หากจะพูดว่าคนทุกคนบนโลกนี้รู้ว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็คงไม่เกินความจริงจนเกินไปนักสำหรับคนที่สูบบุหรี่ คำถามไม่ใช่ว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่เลวร้ายหรือไม่ แต่คำถามคือการเลิกสูบบุหรี่นั้นคุ้มค่าความพยายามหรือเปล่า
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มักพูดถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย ดังนั้นแทนที่เราจะกล่าวถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ในที่นี้ เราควรจะพูดถึงประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพหากคุณเลิกสูบบุหรี่ ลองมาดูกันถึงประโยชน์ทั้งหมดของการเลิกสูบบุหรี่มีต่อร่างกายของคุณ
ประโยชน์ที่คุณจะได้รับในทันทีเมื่อหยุดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้หัวใจคุณเต้นเร็วขึ้น เชื่อหรือไม่ว่าหลังจากคุณสูบบุหรี่มวนสุดท้ายไปได้ 20 นาที อัตราการเต้นของหัวใจคุณจะลดลงมาจนเกือบอยู่ในระดับปกติ และภายในเวลาสองชั่วโมงทั้งความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของคุณจะลดลงจนอยู่ในระดับปกติ อาการถอนนิโคตินจะเริ่มแสดงออกประมาณสองชั่วโมงหลังจากคุณสูบบุหรี่มวนสุดท้าย
ทุกครั้งที่คุณสูบบุหรี่ คุณจะได้สูด ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นพิษต่อร่างกายเข้าไปในระดับสูง แต่ข่าวดีก็คือมันเป็นสารพิษชนิดแรกที่ออกจากร่างกายของคุณหลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่
ขณะที่คุณสูบบุหรี่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอดและยับยั้งหรือขัดขวางไม่ให้ก๊าซออกซิเจนจับกับเม็ดเลือดแดง การขาดก๊าซออกซิเจนส่งผลให้เกิดโรคหัวใจที่ร้ายแรงและปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ไปได้ 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซออกซิเจนในเลือดของคุณจะกลับมาอยู่ในระดับปกติและระดับ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในร่างกายของคุณจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
หลังจากคุณหยุดสูบบุหรี่ได้หนึ่งวัน ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) จะลดลงเช่นเดียวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจวาย หากคุณเลิกสูบบุหรี่ได้สองวัน การรับรสและการรับกลิ่นของคุณจะเริ่มดีขึ้น ปลายประสาทของคุณเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ในระยะนี้คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเพราะความอยากสูบบุหรี่
หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ได้ 3 วัน สารนิโคตินจะไม่เหลือในร่างกาย ทำให้คุณมีอาการถอนนิโคติน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ กระวนกระวายและหงุดหงิด ถึงแม้ระยะนี้เป็นระยะที่ยากที่สุดในการหยุดสูบบุหรี่ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายในเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์และให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าความพยายาม
นับตั้งแต่วันที่ 10 หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ อาการเหล่านี้จะลดลงหรือหมดไป รวมถึงการไหลเวียนของเลือดบริเวณเหงือกและฟันของคุณจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
หลังจากหลายสัปดาห์และหลายเดือนผ่านไป
เมื่อถึงจุดนี้ อาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับและไม่มีสมาธิจากการอาการถอนการหยุดสูบบุหรี่ควรหมดไป แต่ถ้าอาการเหล่านี้ยังมีอยู่ คุณควรปรึกษาแพทย์
หลังจากคุณหยุดสูบบุหรี่ไปได้ 3 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน การไหลเวียนของเลือดในร่างกายคุณจะดีขึ้น คุณอาจสังเกตว่าคุณมีพลังงานมากขึ้นขณะทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น การเดิน การออกกำลังกาย
นอกจากนี้ หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ไปได้ 30 วัน ซีเลียซึ่งเป็นขนเส้นเล็กๆ ที่อยู่บนผิวของเซลล์เยื่อบุหลอดลมภายในปอด ซึ่งมีหน้าที่ขจัดเมือกและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกไปจากปอดของคุณ จะเริ่มซ่อมแซมตัวเองจากความเสียหายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เมื่อเส้นขนเหล่านี้กลับมาทำหน้าที่เป็นปกติเหมือนเดิม ปอดของคุณจะเริ่มทำงานดีขึ้น อาการหายใจลำบากหรืออาการ “ไอของคนที่สูบบุหรี่” ควรเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามความช้าเร็วของการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณเคยสูบบุหรี่
เมื่อถึงหนึ่งปี
การที่คุณหยุดสูบบุหรี่ได้ถึงหนึ่งปีถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
ในตอนนี้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจของคุณได้ลดลงครึ่งหนึ่ง
หลังจากหนึ่งปีผ่านไป
ภายใน 5 ปีความเสี่ยงในการมีภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตกจะลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญจนเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่
หลังจากคุณหยุดสูบบุหรี่ได้สิบปี ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งปอดลดลงครึ่งหนึ่ง และเมื่อถึง 15 ปี ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเทียบเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่สูงถึง 30-50% แต่หลังจากเลิกสูบบุหรี่ได้ 10 ปีแล้วความเสี่ยงดังกล่าวจะลดลงครึ่งหนึ่ง
บทสรุป
จากข้อมูลข้างต้นดังกล่าว จะเห็นว่าการหยุดสูบบุหรี่คุ้มค่าเพียงใด หลังจากคุณเลิกสูบบุหรี่ คุณจะเห็นได้อย่างรวดเร็วว่าคุณมีสุขภาพดีขึ้นทุกวันถึงแม้ว่าคุณอาจจะไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของคุณบ้างแต่ขอให้คุณระลึกไว้เสมอว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 90% ทั่วโลก ดังนั้นประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่คงไม่มีอะไรที่เกินความจริง ถ้าคุณพร้อมที่จะเลิกสูบบุหรี่ ให้พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวและแพทย์ของคุณถึงการตัดสินใจนี้เพื่อให้คุณได้รับความสนับสนุนที่คุณต้องการ
เรียบเรียงโดย นพ. สมเกียรติ วงษ์ทิม อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 มีนาคม 2566