bih.button.backtotop.text

สิว...แค่เรื่องสิวๆ

สิวคืออะไร?

              สิว คือ การอักเสบของหน่วยรูขนหรือเรียกอีกอย่างว่ารูขุมขน และต่อมไขมัน  โดยมากมักเป็นบริเวณหน้า คอ และลำตัวส่วนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่อยู่อย่างหนาแน่น สิวมักปรากฎอาการในช่วงวัยรุ่น ในผู้หญิงช่วงอายุ 14-17 ปี และในช่วงอายุ 16-19 ปีสำหรับผู้ชาย และมักหายไปในช่วงอายุ 20-25 ปี แต่ในบางคนอาจเป็นๆ หายๆ จนอายุ 40 ปี ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดสิว

 

สาเหตุของการเกิดสิวมีอะไรบ้าง?

           สาเหตุของการเกิดสิวนั้นมีหลากหลายไม่เฉพาะเจาะจง อาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • กรรมพันธุ์
  • การใช้ยา หรือสารเคมีบางชนิด
  • การใช้เครื่องสำอาง
  • สภาพผิวหน้าและความมันบนใบหน้า
นอกจากนี้ การดูแลผิวหน้าของแต่ละบุคคล ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดสิวอีกด้วย

 

สิว มีกี่ประเภท?

              สิวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
  1. สิวชนิดไม่อักเสบ คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เรียกว่า โคมีโดน (comedone) หรือเรียกอีกอย่างว่า สิวอุดตัน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของหัวสิว ได้แก่
    1. สิวหัวปิด หรือ สิวหัวขาว
    2. สิวหัวเปิด หรือ สิวหัวดำ
  2. สิวชนิดอักเสบ คือ สิวที่มีการอุดตันของรูขุมขน และพบลักษณะของการอักเสบร่วมด้วย โดยมากมักเกิดตามหลังสิวหัวปิดที่ไม่ได้รับการรักษา ร่วมกับมีการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณรูขุมขน แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามลักษณะของสิวที่พบ
    1. Papule (ผื่นนูน) หมายถึง สิวที่มีลักษณะตุ่มนูน สีแดง ขนาดเล็ก
    2. Pustule (ตุ่มหนอง) หมายถึง สิวที่มีลักษณะตุ่มหนอง ซึ่งแบ่งเป็น ชนิดตื้น และชนิดลึก
    3. Nodule (ตุ่มใหญ่) หมายถึง สิวที่มีลักษณะก้อนสีแดงที่ขนาดใหญ่ขึ้น โดยอาจพบเป็นหลายหัวสิวที่อยู่ติดกัน
    4. Cyst (สิวหัวช้าง) หมายถึง สิวที่มีลักษณะก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ มีความนุ่ม (ภายในอาจมีหนองปนเลือด)

 

ระดับความรุนแรงของสิวมีกี่ประเภท?


              สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจำแนกความรุนแรงของสิวออกเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
 
ระดับความรุนแรง ลักษณะ
สิวเล็กน้อย หัวสิวไม่อักเสบป็นส่วนใหญ่ หรือ มีสิวอักเสบ (papule/pustule) ไม่เกิน 10 จุด
สิวปานกลาง มี papule/pustule ขนาดเล็กมากกว่า 10 จุด และ/หรือ มี nodule น้อยกว่า 5 จุด
สิวรุนแรง มี papule/pustule จำนวนมาก หรือมี nodule/cyst เป็นจำนวนมาก หรือมี nodule อักเสบอยู่นานและกลับเป็นซ้ำหรือมีหนองไหล
 
ซึ่งการจัดประเภทความรุนแรงของสิวเพื่อประโยชน์ในการรักษา โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินก่อนให้การรักษาแก่คนไข้แต่ละคน

 

สิว รักษาได้อย่างไร?

              การรักษาสิวที่ดีนั้นประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
  1. การทำความเข้าใจต่อโรค สาเหตุ ปัจจัยกระตุ้นของโรค รวมไปถึงการดำเนินของโรค และวิธีปฏิบัติตัวระหว่างการรักษา เนื่องจาก สิวแต่ละประเภท มีการรักษาอาจใช้เวลาตั้งแต่ 2-8 เดือน จนกว่าการรักษาจะเห็นผลดีที่สุด
  2. การรักษามาตรฐาน (First line treatment) คือการรักษาที่ขึ้นกับความรุนแรงของสิว และรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้น โดยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
    1. สิวเล็กน้อย รักษาโดยพิจารณาใช้ยาทาเฉพาะที่
    2. สิวปานกลาง รักษาโดยใช้ยาทา ร่วมกันกับฆ่าเชื้อแบบรับประทาน (ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยา)
    3. สิวรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญเรื่องผิวหนัง
โดยข้อมูลยาที่ใช้ในการรักษาสิวแต่ละประเภท ดังตารางด้านล่าง
การรักษา /
ความรุนแรง
สิวเล็กน้อย สิวปานกลาง สิวรุนแรง
การรักษามาตรฐาน
(First line treatment)
- Benzoyl peroxide 2.5%-5% ชนิดทา
- Topical retinoids 0.01%-0.1%
- Clindamycin 1% solution
- Erythromycin 2%-4% solution หรือ gel
- Salicylic acid
-  Azelaic acid
ใช้ยาทา ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น Tetracycline, Erythromycin หรือ Doxycycline
(ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา)
ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญเรื่องผิวหนัง
 
 
หมายเหตุ: ไม่ควรใช้ยาทาฆ่าเชื้อทาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาในระยะยาวได้

 
  1. การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง (Second line treatment)
กรณีที่เป็นสิวรุนแรงหรือไม่สนองต่อวิธีการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานใน 2-3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผิวหนัง
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
 



Reference:
  1. นพดล นพคุณ, เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงษ์, วัณณศรี สินธุภัค และคณะ. แนวทางการดูแลรักษาโรคสิว. Clinical practice guideline ของสมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย [อินเตอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 20 ส.ค.2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dst.or.th/files_news/Acne_2010.pdf
  2. ลีลาวดี เตชาเสถียร. หน้าใส ไร้สิว. Srinagarind Medical Journal [อินเตอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 20 ส.ค.2562]. เข้าถึงจาก: http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/showpdf.php?file_pdf=2066_speaker__7.PDF&art_id=2066
  3. Zaenglein AL, Pathy AL, Schlosser BJ, Alikhan A, Baldwin HE, Berson DS, et al. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J AM ACAD DERMATOL [Internet]. 2016 [cited 2019 Aug 20]. Available from: https://www.aad.org/practicecenter/quality/clinical-guidelines/acne
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs