Gen Y เป็นวัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว หลายคนได้เข้าสู่วัยกลางคนไปแล้ว ถึงแม้ส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพที่ดีอยู่แต่ควรตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและเตรียมตัวป้องกันโรคไว้ก่อน โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเริ่มมีอาการ การรับรู้ความเสี่ยงและประวัติการเกิดโรคร้ายแรงของครอบครัวจะช่วยให้ Gen Y หลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพในอนาคตได้
ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของ Gen Y
ปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ
โรคหลอดเลือดหัวใจ
เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย คนอายุน้อยที่มีภาวะโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและผู้ที่สูบบุหรี่จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้คน 1 ใน 250 คนยังมีภาวะไขมันในเลือดสูงในครอบครัว ( FH ) ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย
โรคมะเร็ง
อายุน้อยก็เสี่ยงได้ โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ MBJ Ocology พบว่า มีคนทั่วโลกที่มีอายุไม่ถึง 50 ปีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 79% ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โดยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นมากที่สุด ตามมาด้วยมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ตามลำดับ
ปัญหาของวัยเจริญพันธุ์
โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและภาวะเจริญพันธุ์ รวมถึงปัญหาจากการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษ
ปัญหาสุขภาพจากการใช้ชีวิต
ปัญหาสายตา เช่น อาการตาล้า ตาแห้ง ประมาณ 10% ของ gen Y ประสบปัญหาการสูญเสียการได้ยินจากหูฟังและเสียงดัง นอกจากนี้ Gen Y ยังเสี่ยงต่อการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรมจากการนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม
ปัญหาทางสุขภาพจิต Gen Y
เป็นคนรุ่นที่มุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบและความสำเร็จมากกว่าคนรุ่นก่อน และอยู่ในยุคที่คนอยู่กันอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ยิ่งมีความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ความเครียดส่งผลต่อคุณภาพการนอน และการนอนไม่พอทำให้มีความเสี่ยงต่อโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานและหลอดเลือดสมอง
Gen Y มีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ผลการสำรวจ Health and Nutrition Survey ในปี 2022 พบว่า Gen Y ประมาณ 1 ใน 3 ใช้แอปออกกำลังกาย ซึ่งมากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ ทั้งหมด โดยทั่วไป Gen Y สามารถดูแลสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
✔️ ดูแลสุขภาพร่างกาย
สร้างอุปนิสัยที่ดีต่อหัวใจด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อโรคด้วยการเรียนรู้ประวัติโรคของครอบครัว ไม่สูบบุหรี่และงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ นั่งทำงานในท่าที่ถูกต้อง ให้พักสายตาเป็นระยะ ๆ เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ และลดระดับเสียงของอุปกรณ์ให้ไม่เกิน 60% ของระดับเสียงดังสุด
✔️ ดูแลสุขภาพจิต
เรียนรู้ในการจัดการกับความเครียดด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ การเล่นโยคะ ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นอกเวลางาน และหันไปทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบหรือพบปะแบบเห็นหน้ากับเพื่อน ๆ
✔️ ตรวจสุขภาพ
พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปีและหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ช่วยให้พบความผิดปกติแต่แรกเริ่ม ควรตรวจยีนหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเพื่อวางแผนป้องกันก่อนเกิดโรค รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์