ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้บริการครอบคลุมความต้องการทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) โดยแบ่งเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ หน่วยเคมีคลินิก หน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา หน่วยโลหิตวิทยา หน่วยอณูชีววิทยาและจุลชีววิทยา หน่วยธนาคารเลือด หน่วยพิษวิทยา หน่วยพยาธิวิทยากายวิภาค หน่วยการให้บริการ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of Care Testing: POCT) หน่วยงานรับเหมาช่วงรับตรวจต่อ หน่วยจีโนมิกส์ (Clinical Genomics) และหน่วยการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านรวมกว่า 100 คน ให้บริการการทดสอบมากกว่า 1,500 รายการ รวมจำนวนการทดสอบที่ให้บริการกว่า 3 ล้านการทดสอบต่อปี
ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเอกชนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการให้บริการด้านจีโนมิกส์ ด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) ที่ให้บริการครอบคลุมการทดสอบทั้งการทดสอบคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์จากเลือดมารดา (Non-Invasive Prenatal Testing: NIPT) การตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งหลายยีนในคราวเดียว (Comprehensive Genomic Profiling: CGP) เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Medicine) ทั้งจากชิ้นเนื้อ (Tissue Biopsy) และจากเลือด (Liquid Biopsy)
ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ร่วมมุ่งมั่นพัฒนาและมอบนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง มีความแม่นยำสูงให้กับผู้รับบริการขององค์กรเสมอมา เรามีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากการได้รับการรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ International Organization for Standardization 15189 (ISO 15189) และ College of American Pathologists (CAP)
เป็นที่ทราบกันว่ากว่า 70% ของการตัดสินใจทางการแพทย์ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หมายความว่าผลการตรวจของห้องปฏิบัติการมีบทบาทสำคัญในกระบวนการตรวจวินิจฉัย การดูแลสุขภาพ การสนับสนุนและการดูแลผู้ป่วยทั้งในด้านการป้องกันและรักษาดังนั้นผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงต้องมีความถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไปประกอบการวินิจฉัยหรือวางแผนดูแลสุขภาพผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพและทันท่วงที
- การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทดสอบ – ห้องปฏิบัติการของเราเป็นห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับสูงเรามีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีรายการทดสอบที่หลากหลายและครอบคลุมโดยมีรายการทดสอบมากกว่า 1,500 รายการ
- ผลการทดสอบที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว – เราให้การตรวจวินิจฉัยที่มีความถูกต้อง มีความแม่นยำและรวดเร็วให้กับผู้รับบริการ
- รวมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆ –เราให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง บุคลากรห้องปฏิบัติการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ มากกว่า 100 คน มีผู้เชี่ยวชาญคุณวุฒิระดับปริญญาเอก (Ph.D.) ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ (Training Curriculum in Genetic Counseling) ของภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. 2564, ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบรับรองหลักสูตร Point-of-Care Specialist Certificate และหลักสูตร Fundamentals of Molecular Pathology Certificate จากองค์กร American Association of Clinical Chemistry (AACC)
- ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานระดับสากล – ห้องปฏิบัติการของเราเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลจากการรับรองจากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน (College of American Pathologists: CAP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO 15189 ISO 15190 และ ISO 22870 (Point of Care Testing) อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
- เน้นการวิจัยและพัฒนาคุณภาพ – เรามีทีมวิจัยและพัฒนาการทดสอบ โดยเน้นการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. โปรแกรมการตรวจยีนหาการกลายพันธุ์ด้วยการทดสอบ ONCOMINE
2. โปรแกรมการตรวจยีนเพื่อค้นหาความเสี่ยง (Genetic Health Screening)
3. การตรวจรหัสพันธุกรรมเชิงลึก โดยการถอดรหัสพันธุกรรมของยีนทั้งหมดในมนุษย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม (Comprehensive genetic health screen using Whole Exome Sequencing)
4. โปรแกรมการตรวจไขมันประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ (Advanced Lipid Profile)
5. โปรแกรมการตรวจยีนเพื่อปรับยา (Pharmacogenomics)
6. โปรแกรมการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา (
NIPT)
7. โปรแกรมการตรวจสมดุลของสารอาหารกลุ่มวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ (
Micronutrient)
1. การใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
การบริหารจัดการให้ห้องปฏิบัติการมีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ผลการตรวจวิเคราะห์ที่แม่นยำและรวดเร็วมีความสำคัญมากต่อผู้ป่วย การที่ห้องปฏิบัติการมีขนาดใหญ่และมีจำนวนการทดสอบมากนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแม่นยำและความรวดเร็วของผลการทดสอบ ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้นำระบบเครื่องตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแบบอัตโนมัติทั้งระบบ (Total Laboratory Automation System : TLA) มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยนำมาใช้ในหน่วยเคมีคลินิกและหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา และมีการพัฒนาระบบการทำงานในห้องปฏิบัติการให้เป็นระบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องและขยายไปยังทุกหน่วยงาน
การใช้ TLA System ประกอบด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ มีระบบราง (Track) ขนส่งสิ่งส่งตรวจและเชื่อมต่อหลายเครื่องมือเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างได้เป็นจำนวนมากในคราวเดียว ระบบนี้สามารถแทนที่มนุษย์ผู้ปฏิบัติงานในการเตรียมและวิเคราะห์ตัวอย่าง ช่วยให้ห้องปฏิบัติการขยายขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ขึ้นไปแบบก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันก็สามารถกำจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดต่าง ๆ ได้ ช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นของการทดสอบของห้องปฏิบัติการ รวมถึงสามารถลดระยะเวลาในการรอผลการทดสอบได้อย่างมีนัยสำคัญ
2. การใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์นำพาห้องปฏิบัติการไปสู่อนาคต
ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนางานตรวจวิเคราะห์ให้มีความถูกต้องและแม่นยำสูง เพื่อส่งมอบบริการที่ดียิ่งต่อผู้รับบริการ นอกจากการนำระบบตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติทั้งระบบมาใช้ในงานบริการแล้ว ฝ่ายห้องปฏิบัติการยังได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาพัฒนาการทำงาน ประกอบการตรวจวินิจฉัยอย่างต่อเนื่องโดยมีนวัตกรรมที่โดดเด่น ดังนี้
1) นวัตกรรมการผสานรวมอย่างสมบูรณ์ของระบบการจัดการ POCT: หน่วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of Care Testing: POCT) ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ให้บริการการทดสอบ POCT มานานหลายทศวรรษ มีเครื่องตรวจวิเคราะห์มากกว่า 70 เครื่อง สำหรับ 6 รายการทดสอบ ประจำจุดบริการต่าง ๆ ทั่วทั้งโรงพยาบาล มีปริมาณการทดสอบเฉลี่ยในแต่ละวัน 400 รายการ มีพยาบาลผู้ให้บริการการทดสอบกว่า 800 คน ภายใต้การดูแลของผู้ประสานงาน (Point-of-care-Coordinator - POCC) เพียง 1 คน ในการบริหารจัดการและตรวจสอบระบบการบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล จากปริมาณงานและผู้ใช้งานที่มากขึ้น สวนทางกับจำนวนผู้ประสานงานที่มีเพียง 1 คน ทางห้องปฏิบัติการจึงได้วางแผนปรับปรุงกระบวนการทำงานของ POCT ให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการนำระบบ Single POCT management system หรือ POCT Middleware มาติดตั้ง ซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่เชื่อมต่อกับ 1) ระบบ Electronic Medical Record (HIS-TrakCare) 2) อุปกรณ์ POCT ทั้งหมด และ 3) ระบบการเรียนการสอนแบบ E-learning
การนำระบบ POCT Middleware มาใช้จัดการงาน POCT อย่างสมบูรณ์นี้ เป็นการนำมาใช้งานจริงแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก ทำให้มีความถูกต้องในการส่งข้อมูลจากเครื่องตรวจไปยังระบบ TrakCare แบบเรียลไทม์ โดยไม่มีข้อผิดพลาด แพทย์สามารถวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ทันที ลดเวลาที่ใช้ในการทำการทดสอบลงมากกว่า 50% ขจัดขั้นตอนและข้อผิดพลาด รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความรวดเร็วในการการอนุมัติสิทธิของผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการอบรมผ่านระบบ E-Learning และลดการสูญเสียรายได้จากการทดสอบบนเครื่องที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบการเงินของโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่าระบบ Single POCT Middleware นี้ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อแพทย์และผู้ป่วย แต่ยังรวมถึงผู้ปฏิบัติงานและโรงพยาบาลอีกด้วย
2) นวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI): หน่วยโลหิตวิทยาของห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีการนำ AI เข้ามาใช้ในการแปลผลชนิดของเซลล์เม็ดเลือดจากภาพถ่าย ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีตัวแรกที่มีการนับเม็ดเลือดแบบอัตโนมัติและใช้ภาพถ่ายเซลล์เม็ดเลือดแบบดิจิทัลร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการตรวจวิเคราะห์และแปลผลเซลล์เม็ดเลือด ช่วยให้นักเทคนิคการแพทย์สามารถแยกเซลล์ผิดปกติที่มีความซับซ้อนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งยังช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและประกอบการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางโลหิตวิทยา
3) นวัตกรรมในการตรวจวินิจฉัยด้านโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune): การทดสอบ Antinuclear antibody tests (ANA) เป็นการทดสอบที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคในกลุ่มออโตอิมมูน หรือโรคภูมิต้านตนเอง ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำระบบการตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ และการใช้การจำแนกภาพถ่ายอัตโนมัติเข้ามาใช้สำหรับการทดสอบดังกล่าว โดยระบบสามารถถ่ายภาพเรืองแสงฟลูออเรสเซนส์ใต้กล้องจุลทรรศน์ จัดเก็บ จดจำรูปแบบ และวิเคราะห์รูปแบบของการติดสีเรืองแสงของเซลล์ที่ทำการทดสอบ ทำให้นักเทคนิคการแพทย์สามารถแปลผลการทดสอบได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ
4) นวัตกรรม Digital Microbiology: หน่วยจุลชีววิทยาของห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการกระบวนการทดสอบตั้งแต่ต้นจนจบในงานด้านจุลชีววิทยา โดยมีระบบ HIS-TrakCare เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อการทดสอบจากเครื่องวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาทุกเครื่อง สำหรับการทดสอบทุกรายการของงานด้านจุลชีววิทยา ได้แก่ การเพาะเลี้ยงและจำแนกเชื้อจุลินทรีย์ การทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะของเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น ผลลัพธ์หลักของการมี Digital Microbiology คือการส่งมอบบริการที่ดีเยี่ยมให้แก่แพทย์และผู้ป่วย โดยแพทย์สามารถเข้าถึงผลการทดสอบได้ง่ายและเร็วขึ้น นำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการยังสามารถลดความผิดพลาดในการรายงานผล ลดต้นทุนในการทดสอบ รวมถึงลดขั้นตอนการทำงานลงได้กว่า 31% ทำให้ลดระยะเวลาการทำงานถึง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน
5) นวัตกรรมการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ (Automated Next Generation Sequencing: NGS): หน่วย Clinical Genomics ของห้องปฏิบัติการได้มีการนำเครื่อง Ion Torrent Genexus System ซึ่งเป็น Automated Next Generation Sequencing มาใช้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็ง นำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Medicine) โดยเครื่องดังกล่าวสามารถทำการเตรียมดีเอ็นเอแม่แบบ อ่านลำดับพันธุกรรม และวิเคราะห์ผลการทดสอบได้ในเครื่องเดียวตั้งแต่ต้นจนจบภายในระยะเวลาอันสั้น ประโยชน์ของการใช้ระบบอัตโนมัตินี้ คือลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการทำการทดสอบ ลดการเกิดความผิดพลาด และลดระยะเวลาการรอคอยผล จากเดิมที่เคยใช้เวลา 1 เดือน ลดลงเหลือเพียง 3 วัน ทำให้แพทย์ได้รับผลการทดสอบที่รวดเร็ว เพื่อนำไปวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง
6) นวัตกรรมการตรวจยีนเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตระหนักถึงการใช้ยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัย จากองค์ความรู้ในปัจจุบันทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ สามารถทำนายชนิดและขนาดยาที่เหมาะสมจากผลยีนของแต่ละบุคคล จึงมีการตรวจวิเคราะห์หาความผิดแผกทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อยา โดยขั้นตอนการทดสอบนั้นง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องเจาะเลือด ใช้เพียงไม้พันสำลีถูกระพุ้งแก้มก่อนนำส่งห้องปฏิบัติการ ผลการทดสอบจะถูกรวมเข้ากับระบบ TrakCare และระบบจะมีการแจ้งเตือนหรือแนะนำแพทย์ในการพิจารณาสั่งยาที่เหมาะสมกับผลยีนของผู้ป่วยแต่ละราย (Personalized Medicine) นำไปสู่ประโยชน์ในการรักษาสูงสุดและลดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากับผู้ป่วย
นวัตกรรมและเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากการได้รับการรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. การรับรองมาตรฐาน International Organization for Standardization 15189 (ISO 15189) เป็นการรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ได้รับการรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน
2. การรับรองมาตรฐาน International Organization for Standardization 22870 (ISO 22870) เป็นการรับรองระบบคุณภาพของการให้บริการ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point-of-care testing: POCT) ได้รับการรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
โดยเป็นห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้
3. การรับรองมาตรฐาน International Organization for Standardization 15190 (ISO 15190) เป็นการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ได้รับการรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
4. การรับรองมาตรฐานจากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน (College of American Pathologists: CAP) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของพยาธิแพทย์เฉพาะทาง ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานด้านพยาธิวิทยาและเวชศาสตร์ชันสูตรทั่วโลก
ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน (CAP) ในปี พ.ศ. 2559 และได้รับการรับรองต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
โทร.
02 011 4158 (08.00 - 20.00)
Email:
[email protected]