bih.button.backtotop.text

โรควิตกกังวล

ความวิตกกังวลเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดที่มีประโยชน์ในบางสถานการณ์เพราะช่วยให้เราตื่นตัวและพร้อมรับมือกับปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโรควิตกกังวลมีความแตกต่างจากความรู้สึกวิตกกังวลทั่วๆไป คนที่เป็นโรควิตกกังวลจะรู้สึกวิตกกังวลและกลัวอย่างเกินเหตุ จนมีผลทางลบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

สาเหตุของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง สาเหตุเกิดได้ทั้งจาก 2 ปัจจัยหลักดังนี้

  • พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน หรือมีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมาและการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
  • สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลแบ่งออกได้ 5 ประเภทหลัก เช่น

  • โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , CAD ) คือ การมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วๆไปนานและมากเกินไป เช่น เรื่องงาน ครอบครัว หรือเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียดและความวิตกกังวลที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ
  • โรคแพนิก (Panic Disorder, PD ) คือ การที่อยู่ดีๆเกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาเป็นพักๆโดยไม่มีสาเหตุหรือมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสำลัก เวียนหัว คลื่นไส้หรือท้องปั่นป่วน หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ มือเท้าชา กลัวว่าตัวเองจะตาย อาการของแพนิกไม่ใช่เป็นโรคร้ายแรงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบายมาก ดังนั้นผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองกำลังหัวใจวายหรือเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต
  • โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) คือ การกลัวมากเกินไปเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง สถานการณ์บางอย่างหรือกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวสุนัข กลัวที่แคบ
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD) คือ ความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำๆและมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูก็จะคอยตรวจซ้ำๆว่าล็อคประตูหรือยัง
  • โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ภาวะภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรง ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น อาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ตกใจง่าย หวาดกลัว กังวลในเรื่องเล็กน้อย คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆและเกิดความกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาใหม่เหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงหวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติความเจ็บป่วย ตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายโรควิตกกังวล รวมถึงพูดคุยหรือใช้เครื่องมือในการประเมินโรคทางจิตเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวล ไม่ได้เป็นโรคทางจิตอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน
การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง แสดงความเห็นใจและให้คำอธิบาย การทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy หรือ CBT) และการรักษาด้วยยาซึ่งมียาหลายกลุ่มที่สามารถกินเพื่อลดอาการวิตกกังวล
โรควิตกกังวลสามารถป้องกันได้โดยการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพ ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ควรฝึกสติเพื่อรู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่าความเครียดว่ามีมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบอยู่กับปัจจุบันและให้สมองได้ผ่อนคลาย
แก้ไขล่าสุด: 12 พฤศจิกายน 2563

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สุขภาพจิต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.37 of 10, จากจำนวนคนโหวต 41 คน

Related Health Blogs