(กรุงเทพฯ – 7 มิ.ย. 2561) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี เปิดเผยว่าในช่วงระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ได้รับการยกย่องจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมอบรางวัลความเป็นเลิศในด้านต่างๆ จำนวนกว่า 13 รางวัล อาทิ รางวัลโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือที่สุดในประเทศไทย 2561 (Most Trusted Hospital 2018 – Thailand) ของ Thai Business Excellence Award 2018 โดยนิตยสาร South East Asia, รางวัลโรงพยาบาลแห่งปีด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2018 Medical Tourism Hospital of the Year in Asia Pacific), รางวัล Smart Hospital of the Year in Asia Pacific, และรางวัลโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกหลายรางวัล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รางวัลผู้ให้บริการด้านออร์โธปิดิกส์แห่งปี 2561 ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2018 Orthopaedic Service Provider of the Year in Asia Pacific) โดยนิตยสาร Global Health and Travel และล่าสุด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเป็น Hospital of the Year – Thailand โดยนิตยสาร Healthcare Asia
จากการที่องค์กรภายนอกที่มีชื่อเสียงทั้ง 3 แห่ง ได้พิจารณามอบรางวัลดังกล่าว นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นพัฒนาและทุ่มเทในการบริบาลผู้ป่วยอย่างดีที่สุดของแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สหสาขาวิชาชีพ และพนักงานโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่มีต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาล เป็นอย่างดี
ก้าวสู่ยุค Healthcare 4.0 ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ยกระดับคุณภาพทางการแพทย์
“กว่า 37 ปีของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการยกระดับบริการด้านสุขภาพให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านนวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประสิทธิผลของการดำเนินงาน เพื่อให้ทันกับภาวะการณ์อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบัน ธุรกิจบริการสุขภาพในตลาดโลก ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาช่วยพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ ในส่วนของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นั้น ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริบาลทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมาแล้วหลายปี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ได้แก่การใช้ “หุ่นยนต์” ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดยาสำหรับผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2551 นับเป็นเทคโนโลยีการจัดการยาที่มีความแม่นยำสูง รวดเร็ว และช่วยป้องกันความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการจัดจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยจะได้รับยาที่ถูกต้อง ถูกขนาด ถูกเวลา เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง อีกทั้งเภสัชกรของเรา ก็จะมีเวลาเพียงพอในการดูแลแนะนำผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกันในปี 2559 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำหุ่นยนต์ Da Vinci เพื่อใช้ในการผ่าตัดรักษามะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urology) โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากที่ให้ผลดีขึ้น การผ่าตัดทางนรีเวช ศัลยกรรมระบบช่องท้อง
สำหรับทิศทางของเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น ถือเป็นพัฒนาการด้านการผ่าตัดของศัลยแพทย์และพัฒนาการของหุ่นยนต์ที่นับวันจะมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ที่สำคัญช่วยให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดด้วยความแม่นยำสูง เนื่องจากศัลยแพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน
หุ่นยนต์ฯ ผู้ช่วยผ่าตัด เพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว
การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการใช้เทคนิคใส่สกรูยึดกระดูกสันหลัง แบบแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimal invasive surgery) เริ่มนำมาใช้ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ปี 2556 โดยเริ่มจากการ X ray แบบ 2 มิติ และพัฒนามาใช้ O Arm Navigator มีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 500 ราย
ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพและผลการรักษามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากวงการแพทย์และจากกลุ่มผู้ป่วย โดยในปี 2561 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้พัฒนาการผ่าตัดกระดูกสันหลังไปอีกก้าวหนึ่งโดยการนำเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์กำหนดพิกัด มาช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง
สำหรับเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์กำหนดพิกัดและผู้ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลังนี้มีจุดเด่น คือการกำหนดพิกัดอย่างแม่นยำโดยศัลยแพทย์เป็นผู้วางแผนตำแหน่ง และทิศทางของการใส่สกรู นอกจากนี้ แขนกลหุ่นยนต์นี้สามารถงอ หมุน และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระทุกทิศทาง ซึ่งช่วยลดเวลาในการผ่าตัดลง อีกทั้งศัลยแพทย์ยังสามารถมองเห็นภาพจากมอนิเตอร์แบบ 3 มิติ ขณะที่ทำได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลงและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากการผ่าตัดเนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก จึงเกิดความบอบช้ำของแผลผ่าตัดน้อย ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่แขนกลหุ่นยนต์ที่ล็อกพิกัด ซึ่งช่วยทำหน้าที่หาตำแหน่งและทิศทางที่ปลอดภัยในการใส่สกรูเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ในการใส่สกรูอย่างปลอดภัยอีกด้วย การแขนกลหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของศัลยแพทย์ ทำให้ศัลยแพทย์มีเวลาใส่ใจในส่วนที่ละเอียดอ่อนของการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ดียิ่งขึ้น เช่น การผ่าตัดเพื่อลดการกดทับเส้นประสาท
การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยแขนกลหุ่นยนต์ช่วยนี้ เป็นแนวทางการรักษาหนึ่งในหลายวิธีที่จะรักษาอาการปวดหลัง ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำตามอาการและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ตลอดจนสาเหตุของอาการปวดหลัง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา จนถึงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนั้นก็มีการผ่าตัดหลายวิธีเช่นกัน ทั้งนี้จะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมที่สุด
นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังช่วยในการวางแผนก่อนการผ่าตัดได้อย่างดี ทำให้ทีมศัลยแพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดกระดูกสันหลังของผู้ป่วยแต่ละรายก่อนการผ่าตัดจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ปลอดภัย และผ่อนคลายความกังวลให้กับผู้ป่วยได้ดีขึ้น
อีกขั้นทางการแพทย์ รับสังคมผู้สูงวัย
สำหรับแนวทางการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ไทยอีกระดับ จากการนำเทคโนโลยีทั้งด้านฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์ ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์มาวางแผนและทำงานร่วมกัน
สำหรับแนวโน้มของผู้เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังนั้น จัดให้เป็นโรคแห่งการเสื่อมตามสภาพร่างกายตามอายุที่มากขึ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วนราว 80-90% ในการเสื่อมของกระดูกสันหลัง ซึ่งจากวิทยาการที่ก้าวหน้าด้านต่างๆ ส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนนานมากขึ้น ทำให้ยิ่งพบอาการเสื่อมของกระดูกสันหลังสูงขึ้นเช่นกัน โดยยังสามารถพบในกลุ่มผู้มีอายุน้อยด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเสื่อมของกระดูกสันหลัง
“ในอนาคต การใช้หุ่นยนต์จะแพร่หลายในวงกว้าง และจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำและผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ เราจะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการรักษา โดยยึดมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก และใช้ความชำนาญของแพทย์ร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย มาช่วยยกระดับการรักษาให้มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งหมดนี้เพื่อส่งมอบผลลัพธ์การรักษาเชิงบวกและประสบการณ์การรักษาที่น่าประทับใจให้แก่ผู้ป่วยของเราทุกคน” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
แก้ไขล่าสุด: 12 กรกฎาคม 2562