ปัจจุบัน มีทางเลือกการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหลายหลายวิธี ซึ่งเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยที่แตกต่างกันไป ได้แก่
- การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งเติบโตช้าและยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
- การผ่าตัด (Radical Prostatectomy) มี 3 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Open Radical Prostatectomy), การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง (Laparoscopic Radical Prostatectomy) และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-Assisted Da Vinci Surgery)
- การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) มี 2 รูปแบบ คือ การฉายรังสีและการฝังแร่ มักใช้ในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก (Localized Prostate Cancer) ซึ่งในขณะฉายรังสีอาจทำให้แสงไปโดนอวัยวะที่อยู่รอบต่อมลูกหมาก เช่น ลำไส้ตรง (Rectum) ซึ่งกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะเกิดอาการแทรกซ้อนค่อนข้างมาก คือท้องเสียหรือปวดหน่วงทวารจนต้องใช้ยา และอาจพบลำไส้ทะลุหรือมีเลือดออก ทำให้ต้องผ่าตัดแก้ไขหรือให้เลือด
ไฮโดรเจล (Hydrogel) เป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสารโพลีเอธิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG) ช่วยลดผลแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการฉายรังสีและการฝังแร่ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วว่ามีความปลอดภัย ร่างกายสามารถดูดซึมและย่อยสลายได้ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำนวัตกรรมไฮโดรเจลเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2566
ทั้งนี้ ไฮโดรเจลจะทำหน้าที่เหมือนเป็นหมอนคั่นระหว่างต่อมลูกหมากและลำไส้ตรง ด้วยการเพิ่มช่องว่างระหว่างอวัยวะทั้งสอง ซึ่งปกติอยู่ห่างกันประมาณ 2-3 มม. ให้มีระยะห่างเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ซม. ทำให้ลำไส้ตรงไม่ได้รับรังสีหรือได้รับรังสีน้อยมาก
โดยก่อนการทำหัตถการ แพทย์จะฉีดยาชาหรือยานอนหลับให้กับผู้ป่วย แล้วจึงใช้น้ำเกลือฉีดเข้าไปในช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรงเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่ง จากนั้นแพทย์จะฉีดสารไฮโดรเจลซึ่งอยู่ในรูปแบบน้ำเข้าไปที่ช่องว่างนั้น เมื่อไฮโดรเจลเข้าสู่ร่างกาย จะเปลี่ยนสภาพเป็นเจลและช่วยขยายช่องว่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรงให้มีขนาดกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 10-20 นาที ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำหัตถการ โดยร่างกายจะดูดซึมไฮโดรเจลไปตามธรรมชาติจนหมดภายในเวลา 6 เดือน
นพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งปัจจุบัน ได้ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะไปแล้วกว่า 1,500 รายต่อปี และประมาณ 300 รายในนั้น คือผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่รักษาด้วยการใช้รังสีรักษา เรามุ่งมั่นและไม่หยุดพัฒนาที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ป่วย