สาเหตุของความชรา เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ปริศนามากมายมารวมกัน เมื่อเราทราบสาเหตุของความชราจะทำให้เราเข้าใจและพร้อมรับมือกับสาเหตุเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความเสื่อม
ความไม่เสถียรของระดับพันธุกรรม (Genomic Instability): อัตราการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นเมื่อเราอายุเพิ่มขึ้นการเปลี่ยนแปลงของรหัสดีเอ็นเอที่ค่อยๆ สะสมนำไปสู่ความเสี่ยงที่ ดีเอ็นเอ (รหัสพันธุกรรมของเรา) จะเกิดการซ่อมแซมที่ผิดพลาด และปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่นโรคมะเร็งในที่สุด
การสั้นลงของเทโลเมียร์ (Telomere Shortening): เทโลเมียร์หรือปลายแท่งโครโมโซม มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ดีเอ็นเอบนโครโมโซมชำรุดเสียหาย ส่วนนี้จะสั้นลงทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว เมื่อเทโลเมียร์สั้นลงจนถึงจุดหนึ่ง เซลล์จะกลายเป็นเซลล์แก่ชรา ทำให้เกิดโรคที่มาจากความเสื่อมของร่างกาย
การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเหนือพันธุกรรม (Epigenetics Alterations): การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีบนสายดีเอ็นเอ (ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและไลฟ์สไตล์) จะนำไปสู่ “การแสดงออกของรหัสพันธุกรรม” ที่ไม่เหมือนเดิม
การสูญเสียความสมดุลของโปรตีน (Loss of proteostasis): การที่เซลล์ไม่สามารถควบคุมให้ผลิตโปรตีนที่มีคุณภาพ หรือย่อยสลายทิ้งอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การเสื่อมถอยของทั้งระดับเซลล์และระดับอวัยวะ เป็นสาเหตุหลักของโรค เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน
การตอบสนองของร่างกายต่อสาเหตุของความเสื่อม
การตอบสนองต่อสารอาหารผิดปกติ (Deregulated Nutrient Sensing): เมื่อมีการรบกวนต่อความสามารถของร่างกายในการตรวจจับและตอบสนองต่อสารอาหาร เช่น กลูโคส กรดอะมิโน หรือกรดไขมัน ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคอ้วน อีกทั้งยิ่งทำให้การควบคุมเหนือพันธุกรรม (Epigenetics) เปลี่ยนแปลงไป
ไมโตคอนเดรียทำงานผิดปกติ (Mitochondrial Dysfunction): ไมโตคอนเดรีย คือ แหล่งผลิตพลังงานให้เซลล์ของร่างกาย หากทำงานได้น้อยลง นำไปสู่การสะสมของของเสียและอนุมูลอิสระ
เซลล์หยุดการแบ่งตัว (Cellular Senescence): เมื่อร่างกายมีความเครียด สัมผัสสารพิษบ่อยๆ หรือมีความเสียหายของสารพันธุกรรม เซลล์จะหยุดการแบ่งตัวและเข้าสู่ภาวะซอมบี้เซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไม่ทำงานและไม่ถูกกำจัดตามปรกติ เมื่อสิ่งนี้เกิดกับเซลล์ในระบบภูมิกันจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมการอักเสบในร่างกายได้
การแสดงออกของร่างกายที่เป็นผลจากความเสื่อม
ความอ่อนล้าของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Exhaustion): ความสามารถในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของเซลล์ต้นกำเนิดและการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดใหม่ลดลงจากความเสียหายจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น
การสื่อสารระหว่างเซลล์ผิดปกติ (Altered Cellular Communication): เมื่อร่างกายของเราชราลง สัญญาณสื่อสารระหว่างเซลล์จะลดลง ซึ่งอาจทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ เกิดการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกและการพัฒนาของกระบวนการเกิดโรค
การอักเสบภายใน (Inflammaging): การอักเสบเรื้อรังซึ่งอาจไม่แสดงอาการ มีบทบาทสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์
ความผิดปกติในการกำจัดเซลล์ที่เสื่อมสภาพ (Disabled Macroautophagy): ปกติร่างกายจะมีกระบวนการกำจัดและย่อยสลายเซลล์ตัวเองที่เสื่อมสภาพและเซลล์แปลกปลอม หากกระบวนการนี้ถูกรบกวน จะทำให้เกิดการสะสมเซลล์ดังกล่าว นำไปสู่โรคของระบบประสาทและสมอง รวมถึงภาวะการเผาผลาญพลังงานที่ผิดปรกติ
ความไม่สมดุลของไมโครไบโอม (Microbiome Dysbiosis): การลดลงของจุลินทรีย์ชนิดดี และการเพิ่มขึ้นของปริมาณจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุของการทำงานที่ผิดปรกติของสมอง ระบบภูมิคุ้มกันและส่งเสริมภาวะการอักเสบเรื้อรัง