bih.button.backtotop.text

โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า

รคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (benign paroxysmal positional vertigo: BPPV) หรืออาจเรียกว่าโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า หรือโรคนิ่วในหูชั้นใน มีสาเหตุมาจากการเสื่อมของอวัยวะในหูชั้นใน จึงมักพบในผู้สูงอายุ โรคนี้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด

การเกิดโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

โรคนี้จะพบตะกอนแคลเซียมสะสมอยู่ในบริเวณอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะเกิดการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนแคลเซียมนี้ ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้เมื่อน้ำในหูชั้นในเคลื่อนไหว จึงมีผลไปกระตุ้นอวัยวะการทรงตัว ทำให้เกิดการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้น

โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนจะมีอาการเฉพาะ คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ โดยมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด เช่น ขณะล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน ขณะพลิกตัวในที่นอน ก้มดูของหรือเงยหน้าขึ้นข้างบน แต่อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมักเป็นอยู่ในช่วงสั้นๆ มักเป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิมอาการก็อาจกลับมาใหม่ได้ แต่จะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ทั้งนี้อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคนี้อาจเป็นได้หลายๆ ครั้งต่อวัน มักเป็นอยู่หลายวันแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน และอาจกลับเป็นซ้ำได้อีกในเวลาอีกหลายเดือนหรือเป็นปี

หากผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แต่โรคนี้จะไม่พบอาการหูอื้อ การสูญเสียการได้ยินหรือมีเสียงผิดปกติในหู (ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีโรคหูเดิมอยู่ก่อนแล้ว) อาการทางระบบประสาท หรืออาการแขนขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย

  • การซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะของอาการเวียนศีรษะ ปัจจัยหรือท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
  • การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท
  • การตรวจจำเพาะ ได้แก่ การทดสอบ Dix-Hallpike maneuver ซึ่งเป็นการทดสอบที่จำเพาะกับโรคนี้ โดยจะให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนหงายอย่างรวดเร็ว ในท่าศีรษะตะแคงและห้อยศีรษะเล็กน้อย หากพบการกระตุกของลูกตาร่วมกับอาการเวียนศีรษะ จะเป็นลักษณะที่บ่งชี้ของโรคนี้
  • การตรวจการได้ยิน
  • การรักษาตามอาการและให้คำแนะนำ เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ รับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ โดยมากอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงโดยเฉพาะหลัง 1 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ดี โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนยังไม่มียาจำเพาะสำหรับการรักษา
  • การทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบันและได้ผลในการรักษา
    • การทำกายภาพบำบัดเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูน ได้แก่ วิธีของ Semont และ Epley (canalith repositioning therapy)
    • การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้เกิดการปรับสภาพของสมองได้เร็วขึ้น ได้แก่ Brandt และ Daroff หรือวิธี Cawthorne vestibular exercise
  • การผ่าตัด หากการรักษาตามอาการและการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
แก้ไขล่าสุด: 14 พฤศจิกายน 2565

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์หู คอ จมูก

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์การได้ยินและการทรงตัว

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.57 of 10, จากจำนวนคนโหวต 98 คน

Related Health Blogs