bih.button.backtotop.text

ซีสต์ในเต้านม

ซีสต์ในเต้านมหรือถุงน้ำในเต้านม เป็นสิ่งที่พบได้ปกติในเต้านมของผู้หญิงทั่วไป ปกติเต้านมของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 5-10 ปีจากหลายปัจจัย เช่น อายุและฮอร์โมนในร่างกาย จึงมักพบซีสต์ในผู้หญิงที่มีวัย 40 ปีขึ้นไปเนื่องจากฮอร์โมนเริ่มลดลง เนื้อเยื่อเต้านมหดลงและถูกแทนที่ด้วยไขมัน ทำให้เกิดซีสต์ได้ง่ายขึ้น

อาการของซีสต์ในเต้านมเป็นอย่างไร
โดยปกติ ซีสต์ไม่ทำให้เกิดอาการ ยกเว้นเมื่อมีการอักเสบหรือติดเชื้อหรือช่วงมีประจำเดือนที่ไปกระตุ้นให้ซีสต์โตขึ้น ทำให้เต้านมตึง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณเต้านมได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์เพราะคลำเจอก้อนซีสต์ด้วยตัวเอง
 
การวินิจฉัยทำได้ดังนี้
  •  การซักประวัติโดยแพทย์ เช่น พบก้อนมานานแค่ไหน ประวัติครอบครัวและอาการข้างเคียง
  •  ตรวจคลำก้อนเนื้อโดยแพทย์ การตรวจคลำก้อนเนื้อเต้านมเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้น แพทย์ยังไม่สามารถบอกได้เป็นก้อนซีสต์หรือไม่ จึงจำเป็นต้องตรวจทางรังสีเพิ่มเติม
  • การตรวจด้วยอัลตราซาวด์และแมมโมแกรม (ultrasound & mammogram) เพื่อดูลักษณะของซีสต์ว่ามีแนวโน้มกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งมีเพียงซีสต์ส่วนน้อยเท่านั้นที่กลายเป็นมะเร็งเต้านม การแปลผลตรวจใช้ระบบสากลที่เรียกว่า BIRADs เป็นตัวบอกความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งด้วยคะแนนตั้งแต่ 1ถึง 5 โดย 1 หมายถึงไม่พบซีสต์ ก้อนหรือจุดหินปูน คะแนน 2 และ 3 ถือว่าปกติ มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งน้อยกว่า 2% คะแนน 4 หมายถึงมีความเสี่ยงตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ในขณะที่คะแนน 5 มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 95%
  • การเจาะชิ้นเนื้อ (core needle biopsy) ในกรณีที่พบจากผลตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ว่าไม่ใช่ซีสต์ธรรมดา (simple cyst) แต่เป็นซีสต์ที่มีผนังหนาหรือมีพังผืดหรือมีก้อนอยู่ในซีสต์หรือเรียกว่า complicated cyst แพทย์จะเจาะชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเพื่อค้นหาเซลล์มะเร็ง
การรักษาซีสต์ทำได้หลายแบบขึ้นอยู่กับลักษณะของซีสต์ หากเป็นซีสต์ธรรมดา มีขนาดเล็กและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ไม่จำเป็นต้องรักษา แพทย์อาจติดตามดูอาการทุก 6 เดือนหรือทุกหนึ่งปี หากเป็นซีสต์ธรรมดาที่มีขนาดใหญ่ 2-3 ซม. ขึ้นไป แพทย์อาจใช้เข็มฉีดยาเพื่อเจาะดูดของเหลวในซีสต์ออกมา ทำให้ซีสต์ยุบหายไป ในบางครั้งซีสต์อาจกลับขึ้นมาใหม่ สามารถเจาะดูดของเหลวในซีสต์ซ้ำได้ แพทย์จะนัดติดตามดูอาการทุก 6 เดือนหรือทุกหนึ่งปีเช่นกัน
สำหรับการรักษาซีสต์ที่มีความเสี่ยงมะเร็งทำได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อเลาะซีสต์ออกมาทั้งหมด ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษามีดังนี้
  • ซีสต์ที่มีผนังหนา
  • ซีสต์ที่มีพังผืดอยู่ข้างใน
  • ซีสต์ที่มีก้อนอยู่ข้างใน
เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของเต้านมผู้หญิง แต่อาจป้องกันซีสต์เพิ่มจำนวนได้ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนหากอยู่ในวัยทอง

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เต้านม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs