bih.button.backtotop.text

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

โรคนี้จะพบลักษณะมีการบิดออกของนิ้วหัวแม่เท้าไปทางด้านนอก ร่วมกับมีปุ่มนูนของกระดูกทางด้านในของนิ้วโป้ง (รูปที่ 1) พบอุบัติการณ์ของโรคนี้ร้อยละ 23-28 ในวัยผู้ใหญ่2, 3 และจะพบสูงถึงร้อยละ 36-72 ในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี2 นอกเหนือจากนั้นจะพบมากขึ้นในเพศหญิงสูงกว่าเพศชายถึง 3 เท่า1, 2 และพบว่าเป็นทั้ง 2 ข้างร้อยละ 18 ในขณะที่เป็นข้างเดียวร้อยละ 6

สาเหตุของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง
โรคนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ที่เป็นสาเหตุหลัก อาทิเช่น พันธุกรรม การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าหัวแหลมและรองเท้าส้นสูง เกิดการเจ็บบริเวณนิ้วโป้งเท้าทำให้เอ็นด้านในขาด  หรือเกิดจากการการที่เอ็นบริเวณข้อที่ 1 เท้าหลวมผิดปกติ โดยสาเหตุดังกล่าวเบื้องต้น จะทำให้เกิดการ มีเอ็นด้านนอกนิ้วโป้งหดตึงร่วมกับการบิดหมุนของกระดูกเท้าชิ้นที่ 1 ทำให้เกิดการเอียงของกระดูกนิ้วโป้งออกไปทางด้านนอก ร่วมกับมีปุ่มนุนของกระดูก โดยที่ปุ่มนูนนี้ จะเสียดสีกับรองเท้าทำให้เกิดอาการปวดขณะใส่รองเท้า


ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง อาการและการรักษา

 

การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการตรวจบริเวณเท้า จะพบว่ามีการบิดของนิ้วโป้งออกไปทางด้านนอก ทำให้ช่องว่างระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วที่ 2 ของเท้าหายไป ในรายที่เป็นรุนแรง จะพบว่านิ้วที่ 2 ถูกเบียดให้ลอยขึ้นไปบนนิ้วโป้ง หรือนิ้วโป้งเท้าจะลอยเหนือนิ้วที่ 2  นอกเหนือจากนั้น อาจจะมีรอยแดงและปุ่มกระดูกนูนด้านข้าง (รูปที่ 1)  สำหรับระดับความรุนแรงของโรค จะสามารถแบ่งได้ โดยอาศัยภาพถ่ายทางรังสีของเท้า โดยการวัดมุมที่เกิดขึ้นที่นิ้วโป้ง

การรักษาด้วยวิธีประคับประคอง ประกอบด้วย การเลือกรองเท้าให้เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงรองเท้าหัวแหลม ส่วนปลายแคบ และรองเท้าส้นสูง ใส่อุปกรณ์ช่วยถ่างนิ้วโป้งที่ทำจากซิลิโคน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักที่เท้า เช่น การวิ่ง การกระโดด การเต้น จะช่วยลดอาการปวดได้ และรับประทานยาแก้ปวดหากมีอาการปวดมาก

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด จะพิจารณาหลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีประคับประคองเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แล้วไม่ได้ผล วิธีการผ่าตัดที่นิยมจะประกอบด้วย การผ่าตัดยืดเอ็นด้านนอกนิ้วโป้งเท้า การตัดปุ่มนูนกระดูกทางด้านในออก การตัดเลื่อนกระดูกเท้าชิ้นที่ 1 หรือการเชื่อมข้อกระดูกเท้าข้อที่ 1 เพื่อจัดกระดูกให้กลับมาตรงหรือใกล้เคียงกับคนปกติ

แก้ไขล่าสุด: 07 มีนาคม 2565

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ออร์โธปิดิกส์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.63 of 10, จากจำนวนคนโหวต 128 คน

Related Health Blogs