bih.button.backtotop.text

ภาวะเปลือกตาตกหย่อน

เปลือกตาเป็นอวัยวะที่อยู่หน้าสุดของดวงตา มีหน้าที่ในการปกป้องอันตรายที่อาจเกิดแก่ลูกตา ป้องกันฝุ่นผง แสงจ้า ช่วยกระจายน้ำตาเพื่อชะล้างฝุ่นละอองและทำให้ดวงตาชุ่มชื้น 
เปลือกตาแบ่งออกเป็นเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง เปลือกตาบนอาจมี 2 ชั้นหรือชั้นเดียวแต่โดยทั่วไปแล้วเปลือกตาบนทั้ง 2 ข้างมักอยู่ในระดับที่เท่ากัน
 
ภาวะเปลือกตาตกหย่อน เป็นหนึ่งในโรคของเปลือกตา (eyelid disorders) ซึ่งเป็นโรคหรือความผิดปกติที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโรคของท่อน้ำตาและเบ้าตา โดยโรคของเปลือกตาอื่นๆ ได้แก่ เปลือกตาม้วนเข้าใน เปลือกตาม้วนออกนอก มะเร็งที่เปลือกตา และรวมถึงการบาดเจ็บและอุบัติเหตุบริเวณเปลือกตาที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติและเพื่อความสวยงาม

สาเหตุและอาการของภาวะเปลือกตาตกหย่อน

สาเหตุของภาวะเปลือกตาตกหย่อน

ภาวะเปลือกตาตกหย่อนอาจแยกย่อยออกได้เป็น เปลือกตาตกและเปลือกตาหย่อน โดยเปลือกตาตกหรือหนังตาตก (ptosis) เป็นภาวะที่ขอบของเปลือกตาบนอยู่ต่ำกว่าระดับปกติ ระดับของเปลือกตาบนทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากันซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
 

สาเหตุของภาวะเปลือกตาตกหย่อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
 

1. เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ส่งผลให้เปลือกตาตกเป็นบางช่วงเวลา เช่น ตกเฉพาะช่วงบ่าย สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาและผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา

2. เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ มีทั้งชนิดที่เป็นแต่กำเนิดและชนิดที่เกิดขึ้นภายหลังจากสาเหตุหลายๆ ประการ เช่น อุบัติเหตุบริเวณเปลือกตา เปลือกตาอักเสบ และกล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรง

ส่วนเปลือกตาหย่อนนั้น เกิดจากเชื้อชาติ กรรมพันธ์ และอายุที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังและกล้ามเนื้อเปลือกตาบนลดลง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวนเปลือกตายืดหย่อนห้อยลงมา ภาวะนี้จึงพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปโดยอุบัติการณ์ก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุ


อาการของภาวะเปลือกตาตกหย่อน

อาการของภาวะเปลือกตาตกและเปลือกตาหย่อนนั้น หากดูจากภายนอกแล้วแทบไม่แตกต่างกัน กล่าวคือเปลือกตาจะตกหย่อนลงมาบังการมองเห็น ผู้ป่วยจะรู้สึกเมื่อยหนังตาบน ลืมตาลำบาก และต้องใช้คิ้วช่วยในการลืมตา

ในการรักษา จักษุแพทย์จะประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยและตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการเปลือกตาตกหย่อน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาหรือจากโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อน
 

ภาวะเปลือกตาตกหย่อนสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตา (Blepharoplasty) โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาผิวหนังและไขมันส่วนเกินออกก่อนจะเย็บปิดใหม่ให้ได้เปลือกตาสองชั้นที่สูงเท่ากัน ได้รูปสวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์โดยเฉพาะเนื่องจากผิวหนังเปลือกตาเป็นส่วนที่บอบบางและไม่ควรต้องผ่าตัดแก้ไขซ้ำ
 

การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถเลือกฉีดยาชาเฉพาะที่หรือฉีดยาชาผ่านชุดให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ หลังผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักจนกว่าจะฟื้นตัวดีและสามารถกลับบ้านได้ภายในวันนั้นโดยไม่จำเป็นต้องใส่ฝาครอบตา
 

ผู้ป่วยจะมีอาการบวมหรือเขียวบริเวณที่ผ่าตัด โดยจะบวมมากในช่วง 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เมื่อตัดไหมแล้วอาการบวมจะดีขึ้นและกลับมาใกล้เคียงกับปกติภายใน 1-2 เดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ ควรทำความสะอาดแผลเช้า-เย็นและก่อนนอนด้วยน้ำเกลือเช็ดแผล และป้ายยาตามที่แพทย์สั่ง
 

ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้สายตาไม่ว่าจะเป็นการเล่นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกเพื่อป้องการอาการตาแห้งที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรใส่แว่นดำกันฝุ่นกันลมอยู่เสมอ
 

ทั้งนี้ ภาวะเปลือกตาตกหย่อนและโรคของเปลือกตาอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง (Ophthalmic Plastic and Reconstructive Specialist) หรือ Oculoplastic Specialist เท่านั้นเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์

แก้ไขล่าสุด: 24 สิงหาคม 2566

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.70 of 10, จากจำนวนคนโหวต 20 คน

Related Health Blogs