bih.button.backtotop.text

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย

การเคลื่อนไหวและบริหารร่างกายอยู่เสมอเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่สุดในการส่งเสริมและยืดระยะเวลาของการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีให้ยาวนานขึ้น

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย
การเคลื่อนไหวและบริหารร่างกายอยู่เสมอเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่สุดในการส่งเสริมและยืดระยะเวลาของการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีให้ยาวนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมยามว่าง การเล่นกีฬา หรือกิจกรรมนันทนาการ ทั้งหมดล้วนมีประโยชน์ต่อผู้สูงวัย เมื่ออายุมากขึ้น การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อลง และการรักษาการเคลื่อนไหวของข้อต่อเพื่อป้องกันการติดยึดและอาการเจ็บปวด จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น

ผู้สูงวัยควรมีกิจกรรมทางกายที่มีความหนักระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์  ซึ่งเป็นคำแนะนำเดียวกับผู้ใหญ่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นดีกว่าไม่ทำเลย แม้แต่การทำกิจกรรมทางกายเป็นเวลาสั้นๆ ครั้งละ 10 นาที รวมกันตลอดทั้งวันก็ให้ประโยชน์ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวควรมีกิจกรรมเพิ่มความสมดุลของร่างกาย เช่น ฝึกการเดินทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม สลับกับกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในกรณีที่ผู้สูงวัยไม่สามารถทำตามข้อแนะนำดังกล่าวได้ควรเลือกกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามศักยภาพและเงื่อนไขของร่างกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด
 

การออกกำลังกายเพื่อป้องกันปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงวัย

  1. การออกกำลังกายเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะกระดูกพรุน
การออกกำลังแบบลงน้ำหนัก (weight-bearing exercise) มีประสิทธิภาพในการทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้นด้วยการกระตุ้นทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อโดยตรง วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การใช้น้ำหนักตัวเองช่วยในการออกกำลังกาย เช่น การเดิน การเดินเร็ว การย่ำเท้าอยู่กับที่ การยกน้ำหนัก การรำมวยจีน และการขี่จักรยาน
  1. การออกกำลังกายเพื่อช่วยลดปัญหาการหกล้ม
การออกกำลังกายที่ช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงวัยควรเป็นการออกกำลังกายที่เน้นเรื่องของการฝึกการทรงตัว การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น

การออกกำลังกายโดยใช้เก้าอี้เพื่อฝึกการทรงตัว
 
Picture1.png
จับพนักเก้าอี้แล้วยกขาขึ้น-ลง


Picture2.png
จับพนักเก้าอี้แล้วกางขาเข้า-ออกทางด้านข้าง

exercise_3.jpg
จับพนักเก้าอี้แล้วเขย่งเท้าขึ้น-ลง


Picture3.png
ฝึกลุกยืน-ลงนั่งจากเก้าอี้*
*การฝึกลุกยืน-ลงนั่งจากเก้าอี้อาจไม่เหมาะสมสำหรับทุกคน ควรใช้อุปกรณ์ช่วยทรงตัวขณะฝึกหากจำเป็น หรือขอคำแนะนำก่อนฝึกท่าออกกำลังกายนี้จากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อนทุกครั้ง
นอกเหนือจากการออกกำลังกายเหล่านี้แล้ว กิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ที่เน้นการทรงตัวและการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การรำมวยจีน ก็พบว่าสามารถป้องกันการหกล้มได้เช่นกัน
 
  1. การออกกำลังกายเพื่อช่วยลดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ได้แก่ การออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยการขมิบหูรูดเป็นประจำ เพื่อช่วยให้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และระบบการขับถ่ายดียิ่งขึ้น สามารถทำได้ทั้งในขณะนั่งหรือยืน และควรทำวันละ 50-100 ครั้งเพื่อให้เห็นผล และที่สำคัญไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือนานเกินไป จะช่วยป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาปัสสาวะเล็ดราดกวนใจในภายหลัง
  1. การออกกำลังกายเพื่อช่วยลดปัญหาข้อเข่าเสื่อม
ควรเป็นการออกกำลังกายที่เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า และไม่ควรเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่า หลีกเลี่ยงการเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ การนั่งยองๆ การนั่งคุกเข่า และการยืนเดินนานๆ

Picture4.png
นั่งวางเท้าสัมผัสพื้น เหยียดเข่าขึ้น-ลง เกร็งค้างไว้นับ 1-10


exercise_5-(1).jpg
เหยียดเข่าโดยยกส้นเท้าให้พ้นพื้น เกร็งค้างไว้นับ 1-10


exercise_6.jpg
นอนหงาย ลากส้นเท้า งอเข่าขึ้น-ลงช้าๆ
 
  1. การออกกำลังกายเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังส่วนคอและเอว
การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลัง การยืดกล้ามเนื้อ และปรับท่าทางการนั่ง ยืน เดิน ให้ถูกต้องมีความสำคัญมาก เพื่อลดการใช้งานของกล้ามเนื้อแบบผิดๆ ที่จะกระตุ้นการเสื่อมให้เร็วกว่าปกติได้
ตัวอย่างการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง
 
 
exercise_7.jpg

exercise_8.jpg
ท่าเก็บคาง (Chin in exercise) คือ การเกร็งกล้ามเนื้อส่วนคอเพื่อดึงให้คางไปด้านหลัง
ให้ได้แนวระนาบขนานกับพื้นโดยไม่ก้มหน้าเกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที

 
exercise_9.jpg
ปรับท่านั่งให้ถูกต้องโดยยืดตัวตรง ไม่ห่อหลังหรือแอ่นหลังมากเกินไป
 

Exercises19.jpg
เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องพร้อมกดหลังให้ติดเตียง เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาทีและไม่กลั้นหายใจในขณะทำ
 
  1. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่
ข้อไหล่ติดและปวดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย การเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ดังตัวอย่าง เพื่อป้องกันภาวะข้อไหล่ติดและคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่
Picture5.png
ท่าไต่ฝาผนัง
ยืนตรง หันหน้าเข้าฝาผนังแขนเหยียด เอานิ้วแตะข้างฝา ไต่ฝาผนังขึ้นสูงเท่าที่จะทำได้
และค่อยๆ ผ่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น โดยค่อยๆ เพิ่มระดับความสูงของนิ้วมือขึ้นเรื่อยๆ


Picture6.png
ท่าถูหลัง
ยืนตรง ใช้ผ้าเช็ดตัวพาดบ่า มือจับปลายผ้าทั้ง 2 ข้าง แขนดีอยู่ข้างบน แขนปวดอยู่ข้างล่าง
ค่อยๆ ใช้แขนดีดึงผ้าขึ้นช้าๆ แล้วปล่อยกลับสู่ท่าเริ่มต้น




 
หากออกกำลังกายแล้วมีอาการผิดปกติใดๆ  เช่น เห็นภาพซ้อน หน้ามืดหรือปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หายใจมีเสียงหวีด หรือเจ็บหน้าอก ให้หยุดการออกกำลังกายทันที ถ้าหยุดพักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
 
แก้ไขล่าสุด: 16 มกราคม 2568

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs