- การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสมองจากอายุที่มากขึ้น
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะเสื่อมลงเช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ในร่างกาย และสามารถส่งผลต่อการนอนหลับของผู้สูงวัยดังต่อไปนี้
- ระยะเวลาในการนอนหลับตอนกลางคืนลดลง
- ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนกว่าจะสามารถนอนหลับได้
- ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับลึกลดลงหรืออาจไม่มีเลย
- ตื่นขึ้นกลางดึกบ่อยๆ
ดังนั้น แม้ผู้สูงวัยจะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ แต่อาจประสบปัญหาการนอนหลับที่ลดลงหรือนอนหลับยาก มีข้อสังเกตคือแม้ผู้สูงวัยอาจรู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับ แต่ช่วงกลางวันมักไม่มีอาการง่วงแต่อย่างใด
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรค ได้แก่
2.1 จากยาที่ผู้สูงวัยกำลังใช้อยู่
ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางในสมอง เช่น ยารักษาโรคลมชัก หรือยารักษาอาการสั่น/เคลื่อนไหวช้าในโรคพาร์กินสัน อาจเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับ นอกจากนี้ ส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสมองโดยตรง เช่น แอลกอฮอล์หรืออนุพันธ์ของฝิ่นในยาน้ำแก้ไอ ก็สามารถรบกวนการนอนหลับได้เช่นกัน รวมถึงผู้สูงวัยที่มีประวัติการใช้ยานอนหลับมาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ ได้
2.2 จากโรคที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย
ผู้สูงวัยหลายรายมีอาการของโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต (ในผู้ชาย) หรือการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ นอกจากนี้อาจมีการใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ และส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ
2.3 ความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดและอาการไม่สบายกายมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงวัย อาการเหล่านี้โดยมากมักเกิดจากความผิดปกติของกระดูกและข้ออักเสบที่เกิดกับข้อเข่าหรือคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ อาการไม่สบายกายจากระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน แน่นท้อง ท้องผูก อาจรบกวนการนอนหลับได้เช่นกัน
2.4 โรคสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า
ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมมักมีวงจรการนอนหลับที่ผิดปกติและอาจมีการสับสนเวลาระหว่างกลางวันและกลางคืน นอกจากนั้นภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการนอนหลับ โดยผู้ป่วยมักเข้านอนได้ตามปกติแต่ตื่นขึ้นกลางดึก เช่น ตี 3 ถึงตี 4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
2.5 ปัจจัยอื่นๆ
โรคการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ (sleep related breathing disorders) สามารถส่งผลต่อการนอนหลับของผู้สูงวัย ผู้สูงวัยบางรายเมื่อนอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจจะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงเพื่อให้หายใจ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นมา ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง หรือบางรายขณะหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลังและอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ หากอุดกั้นมากขึ้นจนทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองจะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงเพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจและอาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้เช่นกัน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมักพบในเพศชาย ผู้ที่มีน้ำหนักมาก และผู้สูงวัย ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมักได้ผลดีจากการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure: CPAP) การรักษานี้จะช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดด้วยแรงดันต่อเนื่องของอากาศไหลผ่านหน้ากากที่สวมเข้ากับจมูกของผู้ป่วยในขณะหลับ
เนื่องจากสาเหตุของการนอนไม่หลับมีหลายประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการนอน และการตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย