bih.button.backtotop.text

โภชนาการในผู้สูงวัย

ปัญหาด้านโภชนาการในผู้สูงวัยเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เช่น ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง กระดูกพรุน โลหิตจาง น้ำหนักลด ความจำเสื่อม และ อารมณ์แปรปรวน

อาการแสดงที่อาจบ่งชี้ถึงปัญหาด้านโภชนาการในผู้สูงวัย
ได้แก่ น้ำหนักลง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง บวมในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น เท้า ข้อเท้า และต้นขา ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดน้อยลง
 
เมื่อเทียบกับประชากรในวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักลงและภาวะทุพโภชนาการได้มากกว่า โดยสาเหตุของภาวะน้ำหนักลดในผู้สูงวัยมีหลายปัจจัย เช่น
  1. ได้รับสารอาหารและพลังงานจากอาหารไม่พอเพียง ซึ่งรวมถึงปัญหาการเคี้ยว ปัญหาในช่องปาก ปัญหาการกลืน ปัญหาการรับประทานยาหลายเม็ดหลายตัว ปัญหาระบบย่อยอาหารที่ช้าลง และปัญหาการดูดซึมอาหาร
  2. ความอยากอาหารลดลง
  3. ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง
  4. โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ
  5. ปัญหาด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า
  6. การรับรสอาหารและรับกลิ่นที่ลดลง
นอกจากการหาสาเหตุและแก้ไขเฉพาะจุดในปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาโภชนาการในผู้สูงวัยแล้ว การปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
 
ผู้สูงวัยควรได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ คือ วันละ 1,500-2,000 กิโลแคลอรี่ จากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ วันละ 3 มื้อ และมีอาหารว่างอย่างน้อย 2 มื้อ โดยทุกมื้อควรมีผักและผลไม้เพื่อเพิ่มกากอาหาร
  1. โปรตีน: อัตราส่วนปริมาณโปรตีนในอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลีบ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ผู้สูงวัยมีความต้องการโปรตีนโดยเฉลี่ยประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัมควรได้รับโปรตีนวันละ 60 กรัม โดยเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ดาว ดื่มนมพร่องมันเนย และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นประจำ
  2. คาร์โบไฮเดรต: เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกาย ได้แก่ อาหารกลุ่มข้าว แป้ง ผู้สูงวัยควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้ให้เพียงพอเพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ลูกเดือย
  3. ไขมัน: ผู้สูงวัยต้องการพลังงานจากไขมันเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันจำเป็นและวิตามินที่ละลายในไขมันเพียงพอ ผู้สูงวัยควรลดหรือจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย น้ำมัน กะทิ ครีมเข้มข้น เป็นต้น
  4. วิตามินและเกลือแร่อื่นๆ: ในผู้สูงวัยที่มีปัญหาทางด้านโภชนาการอาจมีภาวะขาดวิตามินที่สำคัญควบคู่ไปด้วย ภาวะขาดวิตามินที่พบบ่อย ได้แก่ ขาดวิตามินบี12 วิตามินดี และขาดธาตุเหล็ก แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่อย่างพอเพียง แต่หากไม่สามารถรับประทานจากอาหารได้พอ แพทย์อาจพิจารณาเสริมวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • แคลเซียม แคลเซียมช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและสร้างมวลกระดูกให้มีความหนาแน่น ผู้สูงวัยต้องการแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม อาหารทุกมื้อควรมีแคลเซียมโดยเฉลี่ยมื้อละ 300 มิลลิกรัม อาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม ได้แก่ นมถั่วเหลืองเพิ่มแคลเซียม นมสด ผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยวไม่หวานจัด) ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เช่น ฟองเต้าหู้) ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาข้าวสาร) ผักใบเขียวเข้ม ผักสีส้ม (เช่น คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ใบยอ ฟักทอง แครอท)
  • ธาตุเหล็ก ผู้สูงวัยอาจขาดธาตุเหล็กได้เนื่องจากรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอและประสิทธิภาพของการดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ทั้งนี้ธาตุเหล็กจะช่วยป้องกันภาวะซีด โลหิตจาง และอาการเหนื่อยง่าย อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์สีแดง (เช่น สันในหมู เนื้อวัว) ผักใบเขียว กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ถั่วเขียว ถั่วแดง งาดำ
  • วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และทำให้แผลหายเร็วขึ้น อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ บรอกโคลี มันฝรั่ง พริกหวาน ผักโขม มะละกอ มะม่วง สตรอเบอร์รี ฝรั่ง ส้ม
  • โพแทสเซียม ทำหน้าที่รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาสมดุลของของเหลวในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียม ได้แก่ กล้วย ส้ม ฝรั่ง ผลไม้แห้ง มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บรอกโคลี ผักโขม ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ
  • วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงและเซลล์ระบบสมองและเส้นประสาท ถ้าขาดวิตามินบี 12 เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและมีความเสี่ยงต่อภาวะความจำเสื่อม อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบี 12 ได้แก่ เนื้อสัตว์ทุกชนิด (เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู) ไข่ทั้งฟอง ปลา โยเกิร์ต เนยแข็ง นม หากผู้สูงวัยรับประทานเนื้อสัตว์น้อยหรือมีปัญหาการดูดซึมจากกระเพาะอาหารก็อาจขาดวิตามินบี 12 ได้
  • แมกนีเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการทำงานภายในร่างกายหลายระบบ เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ กระดูก แมกนีเซียมพบมากในเนื้อปลา ผักใบเขียว กล้วย และถั่วต่างๆ
  • วิตามินเอ ช่วยรักษาสายตาของผู้สูงวัยไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว ช่วยการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แหล่งของวิตามินเอในอาหาร ได้แก่ ผักโขม แครอท มันเทศ ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก
  • วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูก โดยปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดด สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่ได้รับแสงแดด ร่างกายอาจสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอ ควรรับประทานอาหารประเภทธัญพืช เห็ด และดื่มนมที่เสริมวิตามินดีเป็นประจำ
  • วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย วิตามินดีพบมากใน
    อะโวคาโด ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน เนยถั่ว งา และน้ำมันสำหรับปรุงอาหารทุกชนิด
  • สังกะสี ช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการเบื่ออาหาร อย่างไรก็ดี ผู้สูงวัยอาจมีความต้องการธาตุสังกะสีน้อยกว่าคนวัยหนุ่มสาว รวมถึงเมื่ออายุมากขึ้น การดูดซึมสังกะสีจะลดลง แหล่งอาหารที่มีสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่
  1. เส้นใยอาหาร: ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ตามปกติและป้องกันปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ที่อาจเกิดขึ้นได้ การบริโภคเส้นใยอาหารที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันร่างกายจากโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด ซึ่งอาหารที่มีเส้นใยสูงมักพบได้ในผัก ผลไม้ และถั่วเปลือกแข็ง ผู้สูงวัยจึงควรรับประทานผักและผลไม้ทุกมื้ออาหารเป็นประจำ
  2. น้ำ: น้ำช่วยนำสารอาหารต่างๆ ไปยังอวัยวะภายในร่างกายและช่วยขับถ่ายของเสีย ทำให้รู้สึกสดชื่น ป้องกันอาการท้องผูก ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านอาจไม่รู้สึกกระหายน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ดังนั้น ผู้สูงวัยควรดื่มน้ำให้บ่อย เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และดื่มก่อนที่รู้สึกกระหาย ควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน
  • สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. สูงวัยกินอาหารอะไรดี ส่งเสริมสุขภาพของอวัยวะที่สำคัญ. เข้าถึงได้จาก: https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/book/206126 [เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567].
  • ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ภาวนา พัฒนศรี และธนิกานต์ ศักดาพร. โรงเรียนผู้สูงอายุ: ชุดความรู้ การพัฒนาเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ. กรุงเทพ: บริษัท มาดา การพิมพ์ จำกัด: 2560.
  • Kaewanun C. Nutrition of the elderly. EAU Heritage Journal: Science and Technology. 2018;12(2):112-119.
แก้ไขล่าสุด: 09 มกราคม 2568

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs