bih.button.backtotop.text

โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด

โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด (retinopathy of prematurity: ROP) เป็นโรคของจอประสาทตาที่พบในทารกเกิดก่อนกำหนด (prematurity) โดยเฉพาะในรายที่น้ำหนักแรกเกิดน้อย ความผิดปกติจะพบบริเวณเส้นเลือดที่จอประสาทตา โดยเกิดเป็นเส้นเลือดงอกใหม่หรือเยื่อพังผืด อาการทางคลินิกจะเป็นลักษณะของจอตาผิดปกติจากการดึงรั้ง (proliferative vitreoretinopathy) ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะหายเองได้ก็ตาม แต่ในรายที่มีการดำเนินโรคไปสู่ระยะรุนแรง จอประสาทตาจะถูกดึงรั้งจนหลุดลอก ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสายตาจนถึงขั้นตาบอด ซึ่งส่งผลให้เด็กเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตอย่างบุคคลที่มีสายตาปกติทั่วไป

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
  • ปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ ภาวะจอประสาทตาที่เจริญไม่เต็มที่ (immature retina) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดน้อย (ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือมีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์)
  • ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้โรครุนแรงขึ้น
    • ประวัติการรักษา เช่น ระยะเวลาในการใส่ท่อช่วยหายใจ ได้รับออกซิเจนนาน การใช้ความเข้มข้นของออกซิเจนสูง การได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด/ให้เลือด การติดเชื้อ เป็นต้น
    • ประวัติสุขภาพ เช่น ครรภ์แฝด กลุ่มอาการหายใจลำบากในทารกแรกเกิด (respiratory distress syndrome: RDS) ภาวะแทรกซ้อนขณะทารกอยู่ในครรภ์ ภาวะมีเลือดออกในช่องสมอง ภาวะชัก ซีด ช็อก ภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด (hypercapnia) ภาวะการมีคาร์บอนไดออกไซด์น้อยในเลือด (hypocapnia) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และการขาดวิตามินอี เป็นต้น
    • ความผิดปกติของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ความรุนแรงของโรคแบ่งตามลักษณะหลอดเลือดที่ผิดปกติ มี 5 ระยะตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้

Stage I   :  Partial vascularization with distinct demarcation line.
Stage II  :  Ridge develops at demarcation line, stopping normal vascular development.
Stage III :  Blood vessels within ridge grow wildly toward center of eye, and scar tissue develops.
Stage IV :  Scar tissue pulls the retina, causing partial detachment.
Stage V  :  Total retina detachment.

 
ทารกที่มีปัจจัยเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจจอตาครั้งแรกเมื่ออายุ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หลังจากการตรวจตาครั้งแรกควรตรวจติดตามทุก 1-4 สัปดาห์ โดยพิจารณาตามลักษณะของจอตาที่ตรวจพบครั้งแรกและติดตามจนกว่าจะพบว่าหลอดเลือดจอตาพัฒนาเต็มที่ การตรวจจอตามักตรวจในภาวะที่ม่านตาขยายโดยแพทย์จะให้ยาหยอดขยายม่านตา ซึ่งต้องระมัดระวังในการใช้ยาขยายม่านตา (ผลข้างเคียงของยา คือ หัวใจเต้นเร็ว การหายใจผิดปกติ)

 
โดยทั่วไปมักเริ่มให้การรักษาภายใน 72 ชั่วโมงตั้งแต่ตรวจพบระยะของโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีความรุนแรง stage III plus ทั้งนี้วิธีรักษามีหลายวิธี โดยจะเลือกวิธีใดขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ วิธีรักษา ได้แก่
  1. การจี้บริเวณผิดปกติด้วยความเย็น (cryosurgery)
  2. การใช้เลเซอร์ (laser photocoagulation)
  3. การฉีดยา anti-VEGF (vascular endothelial growth factor) ซึ่งเป็นยาต้านการเกิดหลอดเลือดใหม่เข้าในวุ้นตา เพื่อยับยั้งหรือขจัดหลอดเลือดใหม่ในทารกบางราย
  4. หากเป็นระยะรุนแรง อาจต้องผ่าตัดวุ้นตา (vitrectomy) แก้ไขจอตาหลุดลอก
ในเด็กที่เป็นโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด แม้โรคจะไม่ได้ดำเนินถึงระยะรุนแรงก็อาจมีโอกาสเกิดปัญหาอื่นๆ ในภายหลังได้แม้ได้รับการรักษาแล้วก็ตาม จักษุแพทย์จึงต้องแนะนำให้ผู้ป่วยติดตามอาการและมาพบแพทย์ตามนัด ซึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้แก่
  1. สายตาสั้น/ยาว/เอียง
  2. ตาเหล่ ตาเข
  3. ภาวะตาขี้เกียจ
  4. ต้อกระจกหรือต้อหินในอายุน้อย
  5. จอตาหลุดลอก
ดังนั้นเด็กที่หายจากโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดควรได้รับการตรวจตาเป็นระยะเพื่อระวังปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดภายหลังดังกล่าวข้างต้น
 
โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดเป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยก่อนการตั้งครรภ์มารดาควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมการตั้งครรภ์และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด และ/หรือทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โดย
  1. มารดาต้องรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  2. มารดาต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามที่แพทย์แนะนำก่อนการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ป้องกันได้จากวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์
  3. มารดาต้องฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์และอยู่ในการดูแลของสูติแพทย์เสมอจนทารกคลอด

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs