bih.button.backtotop.text

การกลืนลำบากในผู้สูงวัย

ปัญหาการกลืนอาจทำให้ผู้สูงวัยรับประทานอาหารน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงและขาดสารอาหาร ซึ่งวงจรนี้มักแย่ลงเนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนที่อ่อนแอลง กระบวนการกลืนที่บกพร่องอาจนำไปสู่การสำลักอาหารเข้าไปในทางเดินหายใจหรือปอด

การกลืนลำบากในผู้สูงวัย
เมื่ออายุมากขึ้น การกลืนอาหารโดยไม่สำลักอาจกลายเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
  • ปากแห้งและการหลั่งน้ำลายลดลง ซึ่งมักเป็นผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ในผู้สูงวัย
  • ฟันไม่ดี ไม่มีฟัน หรือฟันปลอมที่ไม่พอดี
  • กล้ามเนื้อการกลืนอ่อนแอลงเมื่อผู้สูงวัยมีร่างกายที่อ่อนแอลง
  • ระบบประสาทควบคุมการกลืนอาหารผิดปกติจากภาวะต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน
  • โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD)
 
ปัญหาการกลืนอาจทำให้ผู้สูงวัยรับประทานอาหารน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงและขาดสารอาหาร ซึ่งวงจรนี้มักแย่ลงเนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนที่อ่อนแอลง กระบวนการกลืนที่บกพร่องอาจนำไปสู่การสำลักอาหารเข้าไปในทางเดินหายใจหรือปอด บางครั้งการสำลักนี้อาจเป็นแบบเงียบหรือเล็กน้อย ซึ่งทำให้เกิดการมีเสมหะเรื้อรัง หรืออาจทำให้ปอดอักเสบจากการสำลักในปริมาณมาก จนอาจทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต
 
ผู้สูงวัยที่เริ่มมีปัญหาการกลืนอาหารอาจมีอาการดังต่อไปนี้
  • กระแอมบ่อย
  • เสียงที่ฟังดูเหมือนมีน้ำหรือเสียงไม่ใส
  • ไอหรือแน่นหน้าอก โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร
  • รู้สึกเหมือนมีบางอย่างติดในลำคอหรือกลืนลำบาก
  • อาหารสะสมอยู่ในกระพุ้งแก้มขณะรับประทานอาหาร
  • น้ำลายไหลหรือควบคุมน้ำลายลำบาก
 
หากท่านสงสัยว่าอาจมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการแก้ไขสาเหตุบางประการ เช่น การจัดการสุขภาพฟัน การลดยาที่ทำให้ปากแห้ง หรือการรักษากรดไหลย้อน อาจช่วยให้ดีขึ้น แพทย์อาจส่งต่อให้ท่านเข้ารับการประเมินและบำบัดการกลืนโดยนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสำลัก รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและกระตุ้นกล้ามเนื้อการกลืน    
 
เมื่อผู้สูงวัยเริ่มมีความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร สิ่งที่มักทำให้สำลักได้ง่ายคือน้ำและของเหลวใส ดังนั้นจึงแนะนำให้ทำของเหลวให้ข้นขึ้น โดยใช้สารให้ความข้นหนืดหรือทางเลือกอื่น เช่น น้ำข้าวหรือน้ำข้าวบาร์เลย์ รวมถึงปรับลักษณะเนื้อสัมผัสของอาหารตามความสามารถในการกลืนด้วย เช่น ปรับเป็นลักษณะบดหรือปั่น ซึ่งนักกิจกรรมบำบัด ร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุและนักกำหนดอาหารสามารถให้คำแนะนำในเรื่องนี้ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงวัยจะได้รับพลังงานและสารอาหารตามความต้องการอย่างเหมาะสม
 
วิธีการลดความเสี่ยงต่อการสำลักในผู้ที่มีการกลืนลำบาก เช่น
  • ไม่ควรมีสิ่งรบกวนในระหว่างรับประทานอาหาร เช่น โทรทัศน์ หรือการสนทนา
  • นั่งตัวตรง 90 องศา ก้มศีรษะลงมาเล็กน้อยระหว่างกลืน
  • ใช้ช้อนขนาดเล็กเพื่อควบคุมปริมาณ ตักอาหารคำเล็กขนาดช้อนชา
  • เคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ และละเอียดก่อนกลืน
  • ใช้เทคนิคกลืนสองครั้ง เช่น กลืน จากนั้นกลืนอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารเคลื่อนออกจากปากทั้งหมดแล้ว ก่อนจะรับประทานคำต่อไป
  • ใช้ช้อนสำหรับของเหลวที่ข้น ไม่แนะนำให้ดื่มด้วยหลอด แต่หากต้องการใช้หลอด ให้เลือกขนาดเล็กและให้มีของเหลวในถ้วยครั้งละน้อยๆ
  • ผู้สูงวัยอาจกลืนยาเม็ดหรือยาแคปซูลขนาดใหญ่ได้ยาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าสามารถบดยาและผสมลงในอาหารหรือของเหลวที่มีความข้นได้หรือไม่ หรือมียาในรูปแบบยาน้ำหรือไม่
แก้ไขล่าสุด: 16 มกราคม 2568

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs