bih.button.backtotop.text

โรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส (syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง มีสาเหตุมาจากเชื้อ Treponema pallidum เชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 3 เดือน ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายแก่ระบบต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ มารดาที่เป็นโรคซิฟิลิสสามารถถ่ายทอดโรคสู่ทารกในครรภ์ได้เรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด

อาการของโรคซิฟิลิส
แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1: เมื่อได้รับเชื้อ บริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น ที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมทอนซิล หัวนม จะเริ่มมีตุ่มเล็กๆ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร จากนั้นจะเริ่มขยายออก มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะแตกออก กลายเป็นแผลที่กว้างขึ้น เป็นรูปไข่หรือวงรี ขอบมีลักษณะเรียบและแข็ง แผลมีลักษณะสะอาด บริเวณก้นแผลแข็ง มีลักษณะคล้ายกระดุม ไม่มีอาการเจ็บปวด ต่อจากนั้นเชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ส่งผลให้มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต เมื่อทิ้งไว้แผลสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ

ระยะที่ 2: จะพบหลังการเป็นโรคระยะแรก 2-3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสจะเข้าไปตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เช่น บริเวณหลังหู หลังขาหนีบและขาพับ และเข้าไปสู่กระแสเลือด รวมทั้งกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย หรือเรียกว่า “ระยะออกดอก” ผื่นที่พบมีความแตกต่างจากโรคอื่น เพราะผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือด้วยและไม่มีอาการคัน ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มนูน และอาจพบมีเนื้อตายจากผื่นเป็นหย่อมๆ อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือเป็นหย่อม ถ้าตรวจเลือดจะพบเลือดบวก “เลือดบวกซิฟิลิส” อาการเหล่านี้อาจหายไปเองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่เชื้อซิฟิลิสยังคงอยู่ในร่างกาย ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผื่นขึ้นเลยแต่อาจมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อมๆ เมื่อทำการตรวจเลือดในระยะนี้จะพบว่ามีผลบวกของเลือดสูงมาก ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้รับการรักษาโรคจะอยู่ใน "ระยะสงบ" โดยเชื้อจะไปหลบซ่อนตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และไม่แสดงอาการได้นานหลายปี เพียงแต่ตรวจเลือดให้ผลบวกเท่านั้น

ระยะที่ 3: เป็นระยะสุดท้ายของโรคหรือระยะแฝง มักเกิดขึ้นประมาณ 3-10 ปีหลังจากได้รับเชื้อ โดยมีอาการตามระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตาบอด เนื้อจมูกถูกทำลายจนเป็นรอยโหว่ หูหนวก ใบหน้าผิดรูป กระดูกผุบาง อาจมีสติปัญญาเสื่อม บางรายอาจมีการแสดงออกที่ผิดปกติคล้ายคนเสียสติ ถ้าเชื้อไปอยู่ที่หัวใจจะทำให้หัวใจมีความผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ ถ้าเชื้อเข้าไปอยู่ที่ไขสันหลังจะทำให้เป็นอัมพาตและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
โรคซิฟิลิสสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ 1 และถ้าสัมผัสกับน้ำเหลืองที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ 2 (ระยะออกดอก) ก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ในทารกที่ได้รับเชื้อผ่านมาจากมารดาโดยตรงโดยผ่านจากทางรกจะสามารถแสดงอาการได้แต่กำเนิด
 
โรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

กรณีหญิงมีครรภ์ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสและไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจถ่ายทอดไปยังทารกที่อยู่ในครรภ์ โดยผ่านทางสายรก ทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เสียชีวิตหลังคลอด หรือมีความพิการไปตลอดชีวิต ซึ่งเรียกว่า ซิฟิลิสโดยกำเนิด (congenital syphilis หรือ hydrops fetalis) ทารกจะมีอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น กระดูก ฟัน จมูกยุบ (จมูกบี้พูดไม่ชัด) ปากแหว่ง เพดานโหว่ ปัญญาอ่อน ตาบอด
เมื่อเกิดแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของแผลที่เกิดขึ้น และเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคซิฟิลิส แม้ว่าจะไม่มีอาการหรืออยู่ในระยะโรคสงบก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะเชื้อซิฟิลิสยังอยู่ในกระแสเลือดและพร้อมที่จะลุกลามจนเกิดอาการที่รุนแรงได้ต่อไป ทั้งนี้ แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง และจะต้องไปฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง การขาดยาเป็นสาเหตุสำคัญให้โรคไม่หายและเกิดโรคในระยะที่ 3 ได้
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ควรมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือสามีภรรยาคนเดียวที่ผ่านการตรวจแล้วว่าไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใดๆ ในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การสวมถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซิฟิลิส หากจำเป็นที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยง ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • การล้างอวัยวะเพศทันทีทั้งภายในและภายนอกไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ถ้าพบสิ่งผิดปกติที่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น ผื่น แผล สารคัดหลั่ง รอยบวม ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
แก้ไขล่าสุด: 29 ธันวาคม 2565

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์อายุรกรรม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs