bih.button.backtotop.text

การให้นมแม่แก่ลูกน้อย

ระดับฮอร์โมนที่ช่วยสร้างน้ำนมจะมีปริมาณสูงมากจากการกระตุ้นเต้านม เช่นลูกดูดนมแม่ การบีบน้ำนมออกจากเต้าด้วยมือ หรือการใช้เครื่องปั๊มนม ซึ่งฮอร์โมนนี้จะถูกสร้างในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน 

การสร้างและการหลั่งน้ำนมเกิดขึ้นได้อย่างไร
ระดับฮอร์โมนที่ช่วยสร้างน้ำนมจะมีปริมาณสูงมากจากการกระตุ้นเต้านม เช่นลูกดูดนมแม่ การบีบน้ำนมออกจากเต้าด้วยมือ หรือการใช้เครื่องปั๊มนม ซึ่งฮอร์โมนนี้จะถูกสร้างในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน ดังนั้นการให้ลูกดูดนมเวลากลางคืน จะทำให้มีการสร้างน้ำนมได้มากเป็นพิเศษ ทำให้เร่งการสร้างน้ำนมได้ดี หากให้ลูกดูดนมไม่บ่อยเต้านมจะสร้างน้ำนมได้น้อย แต่ถ้าลูกดูดนมบ่อยเต้านมก็จะสร้างน้ำนมได้มาก เพราะระดับของฮอร์โมนที่ช่วยสร้างน้ำนมจะมีมากสูงสุด ขณะลูกดูดนมจนถึงภายหลังลูกหยุดดูดนมประมาณ 30 นาที จากนั้นระดับฮอร์โมนจะค่อยๆ ลดต่ำลงจนคงที่โดยเฉลี่ยภายใน 3 ชั่วโมง การให้ลูกดูดนมบ่อยและสม่ำเสมอ จึงทำให้ระดับฮอร์โมนสูงตลอดเวลา มีผลทำให้เต้านมมีการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
 
ส่วนการไหลของน้ำนมออกจากเต้านมนั้น ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นและการยับยั้งโดยประสาทสัมผัสทั้งห้า อาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบใดๆ ที่ทำให้แม่ไม่สบายกายและไม่สบายใจ จะส่งผลต่อการไหลของน้ำนมออกจากเต้าได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีผลทำให้ลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ ดังนั้นขณะที่ลูกดูดนมแม่ควรผ่อนคลายให้มากที่สุด
1. เต้านมแม่ตึงก่อนให้นม และนิ่มลงหลังให้นมเสร็จ
2. ได้ยินเสียงลูกกลืนน้ำนมเป็นช่วงๆ และดูดนมไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง/วัน
3. ลูกสงบ ดูผ่อนคลายมีความสุข หลับพักได้หลังดูดนม
4. หลังอายุ 3-4 วันปัสสาวะของลูกมีสีเหลืองใส จำนวน 6-8 ครั้ง/วัน และถ่ายอุจจาระ 5-6 ครั้ง/วัน
5. ทารกมีสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง ผิวพรรณสดใส
ระยะเวลาในการให้นมจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน เด็กบางคนอาจจะดูดนมแม่เสร็จภายใน 10-15 นาที แต่เด็กบางคนอาจใช้เวลานานเกือบชั่วโมง เฉลี่ยแล้วประมาณ20-30 นาที/ครั้ง ดังนั้นเวลาให้นมสำหรับเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกัน

การอุ้มให้นมทารกได้ถูกต้อง จะส่งผลให้ทารกดูดนมได้มีประสิทธิภาพ ขณะให้นมทารกคุณแม่ควรอยู่ในท่าที่สบายและผ่อนคลายให้มากที่สุด
 

หลักในการอุ้มให้นมทารกมีดังนี้
  1. ศีรษะ ลำตัวของทารกอยู่ในแนวตรง คอและแขนไม่บิด
  2. ใบหน้าทารกอยู่ระดับเดียวกับเต้านมแม่ จมูกของทารกอยู่ตรงกับหัวนมแม่
  3. อุ้มทารกให้ชิดกับตัวแม่ให้มากที่สุด
  4. ถ้าเป็นทารกแรกเกิดต้องได้รับการรองรับทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะ คอ หลังและก้น ของทารก
1. ทารกจะอ้าปากกว้าง ริมฝีปากแนบชิดกับเต้านมแม่
2. เห็นลานหัวนมเหนือริมฝีปากบนมากกว่าริมฝีปากล่าง
3. คางลูกแนบชิดอยู่กับเต้านมแม่ จมูกและแก้มของลูกสัมผัสกับเต้านมแม่
  • หัวนมเจ็บ หรือแตก สาเหตุอาจเกิดจาก แม่อุ้มลูกให้นมไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกอมไม่ลึกถึงลานหัวนมทำให้ดูดแต่หัวนมแม่ หรือลูกดูดนมแรงมากและนานเกินไปในขณะที่แม่มีน้ำนมน้อย ทำให้เจ็บหัวนมจึงเป็นเหตุให้แม่ทนให้ลูกดูดนมไม่ไหว
ข้อแนะนำ อุ้มลูกให้นมอย่างถูกต้องและถนัดก่อนให้ลูกดูดนม เมื่อลูกอ้าปากกว้างเคลื่อนศีรษะลูกเข้าหาเต้านมแม่โดยเร็ว เพื่อให้ลูกอมได้ลึกถึงลานหัวนม และควรเริ่มต้นดูดจากข้างที่เจ็บน้อยก่อน หากแม่ทนเจ็บไม่ไหวต้องงดดูดจากเต้า 1-2 วัน บีบน้ำนมทาแผลที่หัวนมและปล่อยให้แห้ง คุณแม่ควรปั๊มน้ำนมออกทุก 2-3 ชั่วโมง จนกว่าจะสามารถให้ลูกกลับมาดูดนมจากเต้าได้
  • เต้านมคัด เกิดจากการสร้างน้ำนมมาก แต่ไม่สามารถระบายน้ำนมออกได้ทัน จึงเกิดอาการคัด ลักษณะเต้านมจะร้อน ผิวแดงเป็นมัน หนัก แข็งและเจ็บ น้ำนมไม่ไหลบีบหรือจับไม่ได้ อาจมีไข้แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
ข้อแนะนำ ประคบเต้านมด้วยน้ำอุ่นจัดประมาณ 5-10 นาที ถ้าปวดมากกินยาแก้ปวดได้ผ่อนคลายความเครียด หากให้ลูกดูดนมได้ควรอุ้มลูกดูดนมแม่อย่างถูกต้อง และให้ลูกดูดนมแม่บ่อยขึ้นจะช่วยทุเลาอาการคัดลง หลังจากนั้นให้ระบายน้ำนมออกโดยการบีบน้ำนมออกด้วยมือ หรือใช้เครื่องปั๊มนม
  • เต้านมอักเสบ เกิดจากการมีน้ำนมค้างในเต้านมนาน และมีการติดเชื้อร่วมด้วยผิวหนังบริเวณเต้านม แดงบางส่วน คลำได้ก้อนแข็ง เจ็บมาก มีไข้และอ่อนเพลียอาจเกิดจากการที่คุณแม่ให้ลูกดูดนมไม่บ่อย ให้ลูกดูดนมในระยะสั้นๆ และแม่ไม่มีเวลาปั๊มน้ำนมออก หรืออาจเกิดจากการไหลของน้ำนมบางส่วนของเต้านมไม่ดีซึ่งอาจเป็นผลมาจากลูกดูดนมไม่มีประสิทธิภาพ แม่กดเต้านมไว้ในขณะให้ลูกดูดนมแม่นอนทับเต้านมเป็นเวลานาน หรือการใส่เสื้อยกทรงที่คับไม่พอดี
ข้อแนะนำ ระบายน้ำนมออกให้เร็วที่สุด โดยให้ลูกดูดบ่อยสม่ำเสมอและดูดอย่างถูกวิธีให้ลูกดูดข้างที่มีปัญหาก่อน จัดท่าให้ลูกดูดนมโดยให้คางอยู่ตรงกับก้อนที่คลำได้ถ้าปวดมากกินยาแก้ปวดได้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์หรือคลินิกนมแม่
แก้ไขล่าสุด: 01 กันยายน 2563

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

คลินิกนมแม่

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.75 of 10, จากจำนวนคนโหวต 59 คน

Related Health Blogs