“ความสุข” คือความสบายกายและใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการและพากันแสวงหาถึงหนทางที่จะพบกับความสุขในชีวิต แต่ความสุขในชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนสุขเพราะประสบความสำเร็จในชีวิต สุขเพราะได้อยู่กับคนที่รัก สุขเพราะได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก แต่มีความสุขอยู่อย่างหนึ่งที่แสวงหาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสร้างให้มันเกิดขึ้นด้วยตนเอง นั่นคือความสุขที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
สุขเพราะสุขภาพดี
“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” คงเป็นคำพูดที่ทุกคนคุ้นหูและได้ยินกันมานาน แต่จะทำอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้ อาจเป็นคำถามที่อยู่ในใจใครหลายๆ คน ซึ่งคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า สุขภาพกายและใจมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ก็ย่อมส่งผลให้จิตใจร่าเริง สดชื่น ในขณะเดียวกัน หากไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ส่งผลให้จิตใจห่อเหี่ยว ซึ่งองค์ประกอบของการมีสุขภาพที่ดีมีอยู่หลายอย่าง เช่น
- การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน เพราะสารอาหารแต่ละชนิดจะมีหน้าที่ต่อร่างกายแตกต่างกัน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันโรคและรักษาโรคได้พร้อมๆ กัน ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ดีคือ อาหารที่มีไขมันต่ำ โดยเฉพาะต้องมีไขมันอิ่มตัวอยู่ต่ำ มีคอเลสเตอรอลต่ำ มีวิตามิน เกลือแร่และเส้นใยอาหารสูง เน้นการรับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน รวมถึงอาหารปิ้งย่าง นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะหัวใจนั้น ไม่จำเป็นต้องหักโหม สามารถทำได้ด้วยการทำกิจกรรมทางกายที่ใช้แรงปานกลางจนกระทั่งหายใจเร็วขึ้นเล็กน้อย เช่น เดินเร็วๆ หรือทำงานบ้าน แต่ถ้าต้องการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ ต้องให้ความสำคัญกับอัตราการเต้นของหัวใจ โดย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง และควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารมื้อหลักประมาณ 1-2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ควรเป็นไปอย่างเหมาะสมกับวัย สภาพร่างกาย ถูกท่าและถูกวิธี ไม่ออกกำลังกายน้อยเกินไปและไม่หักโหมมากจนเกินไป
- การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้านอนไม่พอ ร่างกายจะรู้สึกเครียดเพราะไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งการนอนไม่เพียงพอยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคซึมเศร้า โดยทั่วไป วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ต่างต้องการเวลานอนในแต่ละวัน อย่างน้อย 7 ชั่วโมง
การตรวจสุขภาพคืออะไร
คือการตรวจด้านสุขภาพของผู้ที่ไม่เคยทราบว่าเป็นโรค ไม่มีอาการหรืออาการแสดงของการเจ็บป่วย เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกัน การปรับพฤติกรรม การส่งเสริมสุขภาพ หรือให้การบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก
เช่น ถ้ามีอายุ 40 ปี บิดาเป็นโรคเบาหวาน รับประทานอาหารไม่ระวังและไม่ค่อยออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพพบว่าระดับน้ำตาลเริ่มสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เมื่อได้คุยและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นต้น
การตรวจสุขภาพจำเป็นต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน หลายๆคน ในยุคปัจจุบันจะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อรู้สึกไม่สบาย หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การการตรวจประเมินสุขภาพ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการผิดปกติ เป็นสิ่งจำเป็น เพราะถึงแม้ว่าจะรับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนเพียงพอแล้ว แต่อาจมีภาวะบางอย่างแอบแฝงอยู่ในตัวเรา โดยที่ยังไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพยังเป็นการประเมินดูว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไร ได้แก่ อายุ เพศ หรือ มีพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุ 55 ปี สูบบุหรี่ไม่น้อยกว่า 30 ปีมี ประวัติญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งปอด จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด โดยวิธีการต่างๆ จะช่วยให้ค้บพบโรค อันจะนำไปสู่ การรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ก่อนที่จะลุกลามจนยากที่จะเยียวยารักษา ดังนั้น ความจำเป็นในการตรวจสุขภาพ มีดังนี้
- เป็นการค้นหาโรคที่แอบแฝงหรือแนวโน้มที่จะเกิดโรค ซึ่งหากพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้รักษาให้หายได้และยังช่วยไม่ให้ลุกลามรุนแรงได้
- เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษา เพราะค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียสำหรับการ รักษาย่อมสูงกว่าการตรวจเพื่อป้องกันการเกิดโรค
- ช่วยให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทาน อาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นที่มาของการมีจิตใจ ที่ผ่อนคลายและใจที่มีความสุข
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 28 กุมภาพันธ์ 2566