bih.button.backtotop.text

ภาวะโคลงเคลง เสียการทรงตัว อย่านิ่งนอนใจ

   
มีอาการอย่างไรบ้าง
เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวลอย โคลงเคลง ทรงตัวไม่ได้หรือเวียนศีรษะ/เวียนศีรษะหมุน หากกำลังยืนอยู่กับที่ นั่งหรือนอน อาจรู้สึกว่าตัวลอย หัวหมุน หากกำลังเดินอยู่อาจรู้สึกว่าตัวโคลงเคลง เซไปข้างใดข้างหนึ่งเหมือนกำลังจะหกล้มหรือหกล้ม
นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล ตื่นตระหนก อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่เพียงชั่วครู่หรือระยะเวลานาน
 
สาเหตุเกิดจากอะไร
การทรงตัวต้องอาศัยระบบ 3 ระบบทำงานประสานกันเพื่อให้ทรงตัวได้อย่างเป็นปกติ
ระบบแรกคือ หูชั้นใน (ซึ่งประกอบด้วยน้ำในหูและหินทรงตัว) และเส้นประสาทการทรงตัวที่ช่วยให้เราทำกิจวัตรประจำวันในอิริยาบถต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การยืน การก้มหรือการหัน เป็นต้น

ระบบที่สองคือ ตา เราต้องใช้ตาในการมองทิศทาง สิ่งกีดขวางเพื่อระวังตัวไม่ให้เดินชน สะดุดหกล้ม ดังนั้นถ้ามีปัญหาตาบางอย่าง เช่น มองเห็นไม่ชัด มองในที่มืดได้ไม่ดี จะทำให้มีปัญหาเสียการทรงตัวมากขึ้น
ระบบที่สามคือ ระบบประสาทส่วนกลาง และกล้ามเนื้อไขข้อ มีระบบประสาทมีหน้าที่สั่งงานกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ ของร่างกายว่าต้องเดินและทรงตัวอย่างไร

ดังนั้นหากระบบใดระบบหนึ่งในที่นี้ทำงานผิดปกติไป จะทำให้เราสูญเสียการทรงตัวและมีแนวโน้มที่จะหกล้ม ได้รับบาดเจ็บบาดเจ็บ ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต
 
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเสียการทรงตัว เช่น
  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • เคยเป็นโรคเวียนศีรษะ เสียการทรงตัว
  • เคยเป็นโรคทางระบบประสาท
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • เคยได้รับยาที่ทำลายหูชั้นในหรือประสาทหู
  • สารเคมีในสมองไม่สมดุล
  • ปัญหาไขข้อ เช่น เป็นโรคข้อเสื่อม
  • มีความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ
  • ใช้ยาบางประเภท เช่น ยาที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาท ยาลดความดันโลหิตและยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

วินิจฉัยได้อย่างไร
ภาวะเสียการทรงตัวเกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อน ดังนั้นการวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดโดยแพทย์ผุ้ชำนาญการจึงเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการทดสอบสมดุลการทรงตัวที่ทันสมัย เช่น
  • เครื่องตรวจการทรงตัวของร่างกาย (posturography) เป็นเครื่องมือวัดการทรงตัวเพื่อวินิจฉัยว่าเกิดจากสาเหตุใด ช่วยเป็นแนวทางในการรักษาและฟื้นฟู
  • เครื่องตรวจแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography: ECOG)
  • เครื่องตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในและก้านสมอง (videoelectronystagmography: VNG)
 
รักษาได้อย่างไร
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หลังการรักษา ผู้ป่วยภาวะเสียการทรงตัวบางรายยังอาจหลงเหลือความบกพร่องอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นจึงต้องทำการบำบัดฟื้นฟูการทรงตัวอย่างต่อเนื่องหลังการรักษา
 
ทีมงานผู้ชำนาญการของเรา
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านตรวจการได้ยินและการทรงตัวและทีมกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ด้านการบำบัดฟื้นฟูการทรงตัว เครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุเสียการทรงตัว รวมถึงให้การรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
 
เรียบเรียงโดย รศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตประสาท ศูนย์การได้ยินและการทรงตัว

 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 30 สิงหาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs