bih.button.backtotop.text

IBD... โรคเรื้อรังที่คนไทยเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

   
อะไรคือโรค IBD?
IBD หรือ Inflammatory bowel disease เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินอาหารที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แบ่งได้เป็น 2 โรค คือ โรคลําไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis, UC) และโรคโครห์น (Crohn's disease, CD)
 
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis, UC)
เป็นโรคที่เกิดบริเวณลำไส้ใหญ่เท่านั้น การอักเสบเกิดเฉพาะเนื้อเยื่อชั้นตื้นๆ เช่น ชั้นเยื่อบุลำไส้ของลำไส้ใหญ่ และมักเป็นที่ไส้ตรงเหนือทวารหนักขึ้นไป การอักเสบอาจลุกลามสูงขึ้นไปเท่าใดก็ได้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงในอัตราส่วนเท่าๆ กัน

อาการแสดง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ที่เกิดการอักเสบ และความรุนแรงของการอักเสบว่ามากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายปนมูกหรือเลือดสด ปวดเกร็งในช่องท้อง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ข้ออักเสบ เป็นไข้ ตับอักเสบ
 
โรคโครห์น (Crohn's disease, CD)
เป็นโรคที่พบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ส่วนมากมักพบที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย

อาการแสดง โดยทั่วไปอาการและอาการแสดงของโรคโครห์นมีความหลากหลาย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายปนมูกหรือเลือดสด เป็นไข้ น้ำหนักตัวลดลง อาจพบภาวะทุพโภชนาการ ภาวะซีด หรือโลหิตจาง ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคโครห์นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก หากการอักเสบมีความรุนแรงอาจเกิดเป็นแผลลึกจนทะลุไปอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ หรือบริเวณผิวหนังรอบทวาร
 
โรค IBD มีสาเหตุมาจากอะไร?
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค IBD อย่างไรก็ตาม อาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่
  • เชื้อชาติหรือปัจจัยทางพันธุกรรม เนื่องจากพบโรค IBD ในคนผิวขาวมากกว่าคนเอเชีย และการแปรผันทางพันธุกรรมของยีนบางชนิดทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ปัจจัยทางระบบภูมิคุ้มกัน เชื่อว่าผู้ป่วยโรค IBD มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง เช่น เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วร่างกายไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายสิ่งแปลกปลอม แต่เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติจนไปทำลายเนื้อเยื่อของทางเดินอาหารด้วย ทำให้เกิดการอักเสบและแสดงอาการของโรค IBD ขึ้นมา
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติ และยังสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้หลายชนิด จึงนำไปสู่การอักเสบของทางเดินอาหาร
  • ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น นม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ อาหารขยะ บุหรี่ หรือความเครียด
 
การวินิจฉัยโรค IBD ทำอย่างไรได้บ้าง?
  • การส่องกล้อง การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ช่วยให้วินิจฉัยโรค IBD ได้แม่นยำและเห็นลักษณะแผลที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
  • การตรวจเลือด เพื่อประเมินภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ และการอักเสบ
  • การตรวจตัวอย่างอุจจาระ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างอุจจาระไปตรวจและเพาะเชื้อ เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย

เราสามารถรักษาโรค IBD ได้อย่างไร?
โรค IBD ถือเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป้าหมายหลักของการรักษาเป็นการบรรเทาอาการของโรค และการป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยแพทย์อาจพิจารณาแนวทางการรักษาตามความรุนแรงของโรค ซึ่งมีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด

การใช้ยา
ส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักเริ่มการรักษาด้วยยา โดยการเลือกชนิดของยาขึ้นกับความรุนแรงและตำแหน่งที่เกิดการอักเสบ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการมักดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรค IBD เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ซึ่งยาที่ใช้มีหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่
  • ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs): Steroids (เช่น Prednisolone, Budesonide), Sulfasalazine, Mesalazine
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant drugs): Azathioprine, Methotrexate, Cyclosporine
  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics): Ciprofloxacin, Metronidazole
  • ยาชีววัตถุ (Biologics): Infliximab, Adalimumab, Vedolizumab
การจัดการด้านอาหาร
แพทย์อาจประเมินสภาวะทางโภชนาการเพื่อดูว่าผู้ป่วยได้รับปริมาณพลังงาน วิตามิน และเกลือแร่เพียงพอหรือไม่ หากผู้ป่วย
ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มเติม

การผ่าตัด
ในกรณีที่ใช้ยารักษาแล้วแต่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด
 

หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง

Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 14 พฤศจิกายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs