ปัญหาการนอนหลับเป็นปัญหาที่พบได้ทุกช่วงวัยและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เช่น รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียในเวลากลางวันทำให้มีผลกระทบในการทำงาน การเรียน และอาการหลงลืมอีกด้วย โดยการนอนที่ดีต้องมีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงเวลาที่เหมาะสมด้วย
ปัญหาการนอนที่พบได้บ่อย
- นอนไม่พอ คือนอนหลับไม่ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน นอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือนอนน้อยเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอดนอนเรื้อรังได้
- นอนไม่หลับ อาจเกิดจากโรคที่เกิดขณะหลับ โรคทางกาย โรคทางสมอง หรือภาวะทางจิตใจ เช่น อัลไซเมอร์ อาการปวดหลัง ปวดขา โรคซึมเศร้า หรือการนอนไม่หลับที่มาจากสถานที่นอนไม่เหมาะสม เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ ดูโทรทัศน์ โทรศัพท์ก่อนนอน การเปลี่ยนสถานที่นอน หรือเดินทางข้าม time zone
- นอนกรน เกิดจากการหย่อนตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ ขาดออกซิเจนขณะหลับ นำไปสู่โรคนอนกรนหยุดหายใจ
- โรคอื่นๆ เช่น ละเมอพูด ละเมอเดิน โรคง่วงนอนมากเกินไป โรคขากระตุกขณะหลับ
ปรับพฤติกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการนอนด้วยตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน
- ไม่ดูทีวี ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนนอน
- สร้างสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้มืด เงียบสงบด้วยอุณหภูมิที่เย็นพอเหมาะ
- งดทำกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกายใกล้เวลานอนเกินไป
- นอนในท่าที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่นอนไม่หลับ คือ นอนตะแคงงอเข่าขึ้นไปทางหน้าอกเล็กน้อย ช่วยลดแรงกดบนเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังและช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- นอนหลับบนที่นอนสำหรับการนอนเท่านั้น ไม่นอนหลับบนโซฟา หรือเก้าอี้
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์
โดยส่วนมากโรคที่เกิดขณะหลับเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยมักจะชินกับอาการที่เป็นมานานจนละเลยไป ผู้ป่วยควรสำรวจตัวเองและถามคนข้างๆ ว่าตัวผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่
- นอนกรนดังผิดปรกติ
- มีอาการหายใจลำบาก สะดุด หรือเห็นว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ
- ปัสสาวะบ่อยกลางคืน
- นอนไม่หลับ ตื่นบ่อย ตื่นมาไม่สดชื่น
- มีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว
- ปวดหัวกลางคืนหรือหลังตื่นนอน
- มีพฤติกรรมการนอนผิดปกติอื่น ๆ เช่น นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน หรือ นอนละเมอ นอนฝันร้ายบ่อยๆ
- มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่มีโอกาสจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับสูง 50-90 เปอเซนต์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะคนที่กินยาความดันหลายตัว
โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม
ที่มา พญ. ดารกุล พรศรีนิยม แพทย์ชำนาญการด้านประสาทวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567