bih.button.backtotop.text

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว: ภัยเงียบอันตรายที่ป้องกันและรักษาได้

 
วิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้คนในปัจจุบันสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่กลับมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้การรักษาอาจล่าช้าไป โดยเฉพาะโรคร้ายบางโรคที่อาจไม่แสดงอาการ แต่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือที่เรียกกันว่า Atrial Fibrillation หรือ AF หรือ A Fib
 
ผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วบางรายจะแสดงอาการ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือแน่นหน้าอก แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่แสดงอาการใดๆมาก่อนและเมื่อมีอาการครั้งแรก อาการกำเริบรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตหรือเสียชีวิตฉับพลัน
 
ดังนั้นภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจึงถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะถึงแม้ไม่แสดงอาการแต่สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน สมองขาดเลือดนำไปสู่อาการอัมพาตหรือทำให้เกิดภาวะหัวใจลัมเหลว ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว นอกจากนี้ยังทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 1.5-3.5 เท่า รวมถึงอัตราการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสูงขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงและสามารถนำไปสู่อาการซึมเศร้าในที่สุด
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด มีประวัติครอบครัว โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคไตและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคืออายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ เราพบว่าประชากร 1 ใน 3 คนที่มีอายุมากกว่า 55 ปี มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในช่วงชีวิตของพวกเขา
 
ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยโรค ทำให้แพทย์สามารถคัดกรองหรือตรวจพบภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ เมื่อแพทย์ให้การรักษาหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้อัตราการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วลดลงได้หรือหากผู้ป่วยเกิดภาวะนี้แล้ว แพทย์สามารถให้การรักษาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันหลอดเลือดสมองอุดกั้นหรือรักษาด้วยยาหรือการจี้ไฟฟ้าเพื่อลดอาการแสดงและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมา
 
ดังนั้นการที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยปัจจัยเสี่ยงหรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้อย่างทันท่วงที จะทำให้สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายและลดโอกาสการเสียชีวิต ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาวขึ้นแต่ยังทำให้สามารถใช้ชีวิตในวัยสูงอายุได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดี
 
การที่เราใส่ใจสุขภาพด้วยการพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองตามกำหนดระยะเวลา ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและหาแนวทางป้องกันหรือรักษาได้อย่างเหมาะสมแต่เนิ่นๆก่อนที่ภัยร้ายจะมาเยือนตัวเราหรือคนที่เรารัก
 
สถาบันหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราพร้อมให้การวินิจฉัย คัดกรองปัจจัยเสี่ยงก่อนเกิดโรค ไปจนถึงตรวจรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาในภายหลัง ด้วยความมุ่งมั่นในการทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุด
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว: ภัยเงียบอันตรายที่ป้องกันและรักษาได้
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs