ปัจจุบันได้มีการนำ
หุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดรักษาโรคในหลายอวัยวะ รวมถึง
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งศัลยแพทย์ทั่วโลกยอมรับว่าการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำและให้ผลลัพธ์ในการผ่าตัดที่ดีกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น ทำให้การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์เป็นวิธีที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์ทำได้อย่างไร
ระหว่างการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะนั่งอยู่ข้างๆคนไข้และควบคุมหุ่นยนต์จากแผงควบคุม (Console) เพื่อบังคับแขนหุ่นยนต์เข้าไปผ่าตัดต่อมลูกหมากในตัวคนไข้ โดยศัลยแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กผ่านหน้าท้องเหนือสะดือเพื่อนำเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย แขนของหุ่นยนต์มีทั้งหมด 4 แขน แขนที่ 1 ช่วยถือกล้องที่ให้ภาพ 3 มิติเสมือนจริงและเป็นภาพกำลังขยายเกิน 10 เท่า แขนที่ 2 และ 3 ช่วยในการตัดผูกและเย็บเนื้อเยื่อ แขนที่ 4 ช่วยดึงรั้งเนื้อเยื่อเสริมการผ่าตัด หุ่นยนต์จะทำการผ่าตัดเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมือศัลยแพทย์โดยที่ข้อมือของหุ่นยนต์สามารถงอและหมุนรอบทิศทางได้มากกว่าข้อมือมนุษย์ ทำให้สามารถเข้าไปผ่าตัดได้ทุกซอกทุกมุม นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังสามารถกรองอาการสั่นไหวของมือศัลยแพทย์ได้ จึงทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำปลอดภัยสูง
ใช้เวลาในการผ่าตัดนานเท่าไร
การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง
เหมาะกับใครบ้าง
เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ไม่แพร่กระจายหรือเริ่มมีการแพร่กระจายออกมาเพียงเล็กน้อย
ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยการผ่าตัด
เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหรือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีข้อดีดังนี้
- มีความแม่นยำสูง
- เสียเลือดน้อย เจ็บแผลน้อย
- โอกาสติดเชื้อต่ำ
- ใช้เวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยลง
- ฟื้นตัวเร็วกว่าในเรื่องของการกลั้นปัสสาวะและการแข็งตัว
- สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 7-10 วัน หลังการผ่าตัด
อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แต่มีโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้น้อยกว่า
- มีเลือดออก
- ติดเชื้อ
- เนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงเสียหาย
- มีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะและการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ซึ่งมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยการใช้หุ่นยนต์ช่วยมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงสหสาขาวิชาชีพอื่นๆที่มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยเฉพาะ
ที่มา นพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: