bih.button.backtotop.text

ปวดหลังเรื้อรัง…เสี่ยงเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

ปวดหลังเรื้อรัง…เสี่ยงเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

โพรงช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ ( Lumbar spinal stenosis) หรือ ภาวะช่องบรรจุไขสันหลังตีบแคบ สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ปวด ชา มีความรู้สึกเสียว ที่บริเวณหลัง หรือ ขาเวลาเดินหรือนั่งนานๆ ได้

โดยปกติแล้วภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบนี้ไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีอาการ มักจะเป็นการปวดหลังและเสียว หรือชาร้าวลงไปที่ขา โดยทั่วไปมักจะเป็นทั้งสองข้าง โดยที่มีอาการที่ขาข้างใดข้างหนึ่งมากกกว่า

แต่ถ้าเป็นมากขึ้นถึงขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

อาการมักแย่ลงเวลาที่ผู้ป่วยเดินหรือยืนตัวตรง แต่จะดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยนั่งลงหรือโน้มตัวไปด้านหน้า เช่นการเดินโดยใช้รถเข็นช้อปปิ้งแล้วทำให้เดินได้ไกลกว่าปกติ

โรคโพรงช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ

  • กระดูกสันหลังที่เสื่อมมาก จะสร้างชิ้นกระดูกงอกเล็กขึ้นมา ซึ่งอาจจะไปกดไขสันหลังหรือเส้นประสาทได้ หากอยุ่ในตำแหน่งที่ใกล้เส้นประสาท ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่คอ หรือหลัง
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม จะหดตัวลงและทำให้ระยะระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นลดลง ในขณะเดียวกัน เอ็นที่เชื่อมต่อกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะย่นและหนาตัวชึ้น ทำให้เกิดการกดเบียดเส้นประสาท ณ.ตำแหน่งนั้นๆ
  • กระดูกสันหลังเคลื่อน

Lumbar-spinal-stenosis.jpg

การตรวจเพื่อวินิจฉัย

  • การทำเอกซเรย์ (X-ray) โดยผลเอกซเรย์ จะบอกถึงรายละเอียดของกระดูก เช่น กระดูกเคลื่อน กระดูกหักยุบ หรือหมอนรองกระดูกมีความแคบลงเมื่อเทียบกับหมอนรองกระดูกระดับข้างเคียง แต่ไม่สามารถเห็นการกดทับของเส้นประสาทได้โดยตรง
  • การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI L-s spine) เพื่อดูลักษณะของหมอนรองกระดูก ขนาดของโพรงช่องกระดูกสันหลัง การกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง และหรือหากมีความผิดปกติอื่นๆ MRI L-spine นี้ทำหน้าที่เหมือนแผนที่ของกระดูกสันหลัง และระบบประสาทส่วนนี้
  • ในบางราย แพทย์อาจจะส่งตรวจเส้นประสาท (EMG &NCV study: electromyography or nerve conduction study) เพิ่มเติมเพื่อวัดว่า สัญญาณถูกส่งจากเส้นประสาทกระดูกสันหลังไปยังกล้ามเนื้อได้ดีเพียงไร

 

เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์

  • ปวดหลังหรือปวดขารุนแรง จนไม่สามารถหาท่าทางที่สุขสบายได้
  • ปวดหลังหรือปวดขา และเริ่มปัสสาวะไม่ออก หรือควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
  • ปวดหลังหรือปวดขา และ มีอาการขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
  • กล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรง ไม่สามารถเกร็งเท้าให้กระดกได้ โดยสังเกตเวลาเดิน

วิธีการรักษา

มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดีขึ้นจากการรักษาดังต่อไปนี้

  • รักษาด้วยยา เช่นยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดปวดเส้นประสาท
  • กายภาพบำบัด ในช่วงแรกเป็นการลดปวดก่อน หลังจากนั้น จะเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพื่อลดการปวดหลังในระยะยาว
  • การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง เพื่อลดการอักเสบรอบๆเส้นประสาท
  • การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด ได้ผลดีในกรณีที่โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบไม่มาก หรือยังไม่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง และควบคุมการขับถ่ายได้ปกติ

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

แพทย์จะแนะนำหากมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการตัดสินใจผ่าตัดขึ้นอยู่กับผู้ป่วย

  • การผ่าตัดรักษาโพรงช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ คือการทำให้โพรงช่องกระดูกสันหลังกว้างขึ้น โดยเอาโครงสร้างที่หนาตัวขึ้นและกดเส้นประสาทออกโดยการผ่าตัดผ่านกล้องเอนโดสโคป ใช้เครื่องมือพิเศษกรอกระดูกที่งอกกดเส้นประสาท และตัดเอาเอ็นที่หนาตัวขึ้นออก (Endoscopic spinal decompression)

    การผ่าตัดนี้ มีแผลผ่าตัดเล็กขนาด 8 มม.ที่หลังบริเวณเอว ผ่าตัดโดยใช้กล้องที่มีขนาดประมาณปากกา ตรงปลายมีเลนส์อยู่ ศัลยแพทย์ผ่าตัดจะมองผ่านจอมอนิเตอร์ ซึ่งภาพที่เห็นจะขยายใหญ่กว่ามองด้วยตาเปล่า ผ่าตัดประมาณ 2 -2.5 ชม. หลังผ่าตัดและเข้าห้องพักฟื้น ผู้ป่วยสามารถลุกเดินไปเข้าห้องน้ำได้ปกติ นอนรพ.เพียง 1 คืน
  • ในผู้ป่วยบางราย หากมีกระดูกสันหลังเคลื่อนร่วมด้วย หรือปวดหลัง มากกว่าปวดขา การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงช่องกระดูกสันหลังแบบวิธี Endoscopic spinal decompression อาจไม่เพียงพอ ต้องทำการเชื่อมกระดูกสันหลังทั้ง 2 ชิ้นไว้ด้วยกัน (Tranforaminal Lumbar Interbody and Fusion: TLIF) การผ่าตัดนี้ใช้เวลาผ่าตัดและพักฟื้นนานกว่า Endoscopic spinal decompression แผลผ่าตัด ประมาณ 3-5 ซม. ระดับเอว2 ข้าง และแผลสำหรับใช้ยึดกับตัว navigation frame ขนาด 1 ซม.1 แผล ผ่าตัดประมาณ 3 ชม. นอนรพ. 2-3 คืน ใช้กล้อง microscopy ในการขยายภาพที่เห็นเวลาผ่าตัด ใส่สกรูโดยใช้โปรแกรม O-arm navigation ทำให้มีความแม่นยำของการใส่สกรูสูงกว่าการใส่สกรูด้วยมือเปล่า

อย่างไรก็ตาม หากท่านมีอาการปวดหลัง แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบหรือไม่ แนะนำให้ท่านมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที โรคนี้ตรวจพบเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผศ.พญ. กัณฐิกา วศินพงศ์วณิช

แพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง สถาบันกระดูกสันหลัง (Bumrungrad Spine Institute) 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ปวดหลังเรื้อรัง…เสี่ยงเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs