bih.button.backtotop.text

ความรู้สุขภาพ สู่การดูแลคุณแม่อย่างถูกวิธี

ความรู้สุขภาพ สู่การดูแลคุณแม่อย่างถูกวิธี

ผู้หญิงในปัจจุบันมักมีหลายบทบาท บางคนทั้งทำงานนอกบ้าน ทำงานบ้านและดูแลคนในครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่วัยลูกเล็กหรือวัยรุ่น ที่ต้องบริหารเวลาระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงลูกๆ จนลืมใส่ใจกับสุขภาพของตน แต่การดูแลสุขภาพของตนเองก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะช่วยให้คุณแม่สามารถทำบทบาทหน้าที่ทั้งภายในบ้านและนอกบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่

การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพ "เชิงป้องกัน" เพื่อไม่ให้เกิดโรคตั้งแต่แรก ดังนั้นคุณแม่ทุกคน ในทุกช่วงวัยจึงควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวชต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก

 

การดูแลสุขภาพคุณแม่วัยทำงาน 20+ ปีจนถึง 50 ปี

คุณแม่วัยที่มีอายุมากกว่า 20 ปีไปจนถึงอายุประมาณ 50 ปี มีโอกาสเกิดโรคได้หลากหลาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อที่ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอกหรือมะเร็ง ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีแผล มีติ่ง มีก้อนบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวผิดปกติหรือมีเลือดออกผิดปกติ และถึงแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจภายในเป็นประจำทุกปีและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จากสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยจาก Globocan ในปี 2563 พบว่าผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของคนไทยในลำดับต้นๆ นอกจากนี้ การตรวจภายในยังทำให้สามารถพบโรคที่อาจยังไม่แสดงอาการได้ เช่น ซีสต์ในรังไข่และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด ในปัจจุบัน มีวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกมีความผิดปกติ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ วัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9) แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไว้ก่อน
 
สำหรับคุณแม่ในวัย 40 ปลาย ฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลงมาก ทำให้เริ่มเข้าสู่วัยทองและมีอาการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะแสบขัดหรือปัสสาวะเล็ด สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต เช่น ลดอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืนด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ใช้สารหล่อลื่นช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ จัดการกับอารมณ์และอาการนอนไม่หลับด้วยการฝึกหายใจ ผ่อนคลายความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและการเล่นโยคะ หยุดดื่มน้ำอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน และเพื่อให้ผ่านพ้นวัยทองไปได้อย่างราบรื่น แนะนำให้ตรวจร่างกายเมื่อมีอาการเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน (ตั้งแต่อายุ 40 เป็นต้นไป) เพื่อตรวจดูระดับฮอร์โมน สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่และเต้านม ระดับแคลเซียม เป็นต้น พร้อมรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์และนักโภชนาการ
 
 

การดูแลสุขภาพคุณแม่สูงวัย

คุณแม่วัยสูงอายุหรือวัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายโรคได้มากกว่าคุณแม่ที่อายุน้อยกว่า เช่น
  • ภาวะมดลูกหย่อน ส่วนใหญ่จะตรวจพบเมื่อมาตรวจร่างกาย หรือบางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น รู้สึกอึดอัดเหมือนถูกกดทับบริเวณอวัยวะเพศ รู้สึกหน่วงๆหรือรู้สึกปวดบริเวณช่องคลอด หลังส่วนล่าง หรือหน้าท้องส่วนล่าง มดลูกเลื่อนหลุดลงมาต่ำเป็นก้อนยื่นออกมาทางปากช่องคลอดหรือมีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะและการถ่ายอุจจาระ การรักษาใช้การพิจารณาตามความรุนแรงของคนไข้แต่ละราย สามารถรักษาด้วยการใช้ยา การผ่าตัดหรือการใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอด
  • โรคติดเชื้อที่ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากช่องคลอดหยุดผลิตสารคัดหลั่ง ทำให้ช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบางลง ประกอบกับแบคทีเรียดีในช่องคลอดที่มีปริมาณน้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้เป็นเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น หากคนไข้มีการติดเชื้อซ้ำซาก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสอดเพื่อปรับสภาวะช่องคลอด
  • ภาวะกระดูกเปราะหรือกระดูกผุที่ไม่แสดงอาการจนกว่าจะหกล้มและกระดูกหัก ดังนั้นจึงควรตรวจมวลกระดูกเมื่อหมดประจำเดือน เพื่อป้องกันหรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ 
  • โรคมะเร็งนรีเวช พบได้มากขึ้นตามวัยที่มากขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจร่างกายและตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตร้าซาวด์ ตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปีอย่างต่อเนื่อง หากประจำเดือนหมดไปแล้วหนึ่งปีและมีเลือดกลับมาอีก อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในโพรงมดลูกหรือรังไข่ได้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
คุณแม่ในแต่ละช่วงวัยล้วนมีโรคได้หลากหลาย ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองและป้องกันโรคด้วยการตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางที่พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันโรค การวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคทางนรีเวชอย่างครอบคลุม
 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 05 กันยายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs