ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และ เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดให้มากยิ่งขึ้น ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถีในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง (O-arm navigation system) เป็นเครื่องที่แสกนกระดูกสันหลังในขณะผ่าตัด และสร้างภาพกระดูกสันหลังเป็นภาพทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ โดยสามารถมองเห็นโครงสร้างในทุกมุมมองของกระดูกสันหลังในขณะที่ทำการผ่าตัดแบบ real time เพื่อช่วยหมอผ่าตัดในขณะผ่าตัด เพิ่มความแม่นยำ และความปลอดภัย โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบแผลเล็ก บาดเจ็บน้อย เพื่อที่จะใส่เหล็กยึดตรึง (Pedicle screw) ใส่หมอนรองกระดูกเทียมเชื่อมข้อ (Interbody fusion) และช่วยในการผ่าตัดในตำแหน่งที่มีความซับซ้อน หรือต้องอาศัยความแม่นยำสูง
ข้อดีของการใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถี
- เพิ่มความแม่นยำของการใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกสันหลัง (Pedicle screw fixation) ลดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทในการใส่เหล็กยึดตรึง
- ช่วยบอกตำแหน่ง โครงสร้างของกระดูกสันหลังแบบ real time ในขณะผ่าตัด
- ช่วยในการผ่าตัดในตำแหน่งที่มีความซับซ้อนของกระดูกสันหลัง หรือในภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป
- ช่วยในการผ่าตัดแผลเล็ก บาดเจ็บน้อย และ การใส่เหล็กยึดตรึงแบบเจาะรู (Percutaneous pedicle screw fixation) รวมถึงการใส่หมอนรองกระดูกเทียมเชื่อมข้อ (Interbody fusion)
หัตการที่สามารถใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถี
- การผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงแบบเจาะรู (Percutaneous pedicle screw fixation)
- การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียมจากทางด้านหลัง ร่วมกับการใส่เหล็กยึดตรึงแบบเจาะรู (Minimally invasive transforaminal lumbar interbody fusion)
- การผ่าตัดใส่หมอนรองกระดูกเทียมจากทางด้านข้าง ร่วมกับการใส่เหล็กยึดตรึงแบบเจาะรู (Oblique lumbar interbody fusion)
- การผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงบริเวณกระดูกคอจากทางด้านหลัง (Posterior cervical spine fixation)
- การผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงในโรคที่มีความซับซ้อน และ ความผิดรูปของกระดูกสันหลัง (Complex spinal surgery/Spinal deformity surgery)
โดยสรุปการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิตินำวิถี (O-arm navigation in spine surgery) เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูง สมัยใหม่ เข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัย และ ความแม่นยำในการผ่าตัด โดยสามารถใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังบางชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน และความชำนาญของทีมแพทย์
เรียบเรียงโดย
นพ. ปฤศนัย พฤฒิกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567