bih.button.backtotop.text

การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลัง และการดูแลหลังผ่าตัด

การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัด บริเวณคอ และบริเวณหลังส่วนล่าง

การผ่าตัดกระดูกสันหลังบริเวณคอ

มักเป็นการผ่าตัดจากทางด้านหน้า เพื่อแก้ไขการกดทับเส้นประสาทและใส่หมอนรองกระดูกเทียมแบบเชื่อมข้อ หรือ แบบขยับได้

การผ่าตัดบริเวณหลังส่วนล่าง มีการผ่าตัดหลักๆ อยู่ 2 แบบ

  1. การผ่าตัดเพื่อแก้ไขการกดทับเส้นประสาทอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่เหล็กยึดตรึง
  2. การผ่าตัดเพื่อแก้ไขการกดทับเส้นประสาทร่วมกับการใส่เหล็กยึดตรึงเชื่อมข้อ


การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลัง

  • หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลต่อการเกิดความเสื่อมของข้อ มีผลต่ออาการปวดคอและปวดหลัง และยังมีผลต่อการเชื่อมติดของข้อในกรณีที่มีการผ่าตัดใส่เหล็กแบบเชื่อมข้อ
  • ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะการผ่าตัดที่บริเวณหลังส่วนล่าง เพื่อลดแรงที่กระทำต่อหมอนรองกระดูก และข้อต่อ ทั้งในข้อที่ทำการผ่าตัดหรือข้อข้างเคียง และลดแรงที่มากระทำต่อเหล็กที่ยึดตรึงในกรณีที่มีการใส่เหล็กเชื่อมข้อ
  • ควบคุมระดับน้ำตาล โดยในคนที่มีภาวะเบาหวานและควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะเพิ่มโอกาสติดเชื้อของแผลผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ต้องมีการใส่เหล็กยึดตรึงที่กระดูกสันหลัง
  • รักษาภาวะกระดูกพรุน โดยกระดูกพรุนจะมีผลในกรณีที่ต้องมีการใส่เหล็กยึดตรึง ไม่ว่าจะเป็นที่คอหรือที่หลัง โดยมีผลต่อความยึดแน่นของเหล็กที่ยึดตรึง
  • หยุดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยา แอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด หรืออาหารเสริมบางชนิดเช่น น้ำมันตับปลา ซึ่งขึ้นอยู่กับหัตถการในการผ่าตัดที่ทำ และแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้หยุดยาก่อนผ่าตัด
  • ตรวจประเมินก่อนผ่าตัด มีการตรวจร่างกาย ผลเลือด และเอกซเรย์ หรือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และส่งพบแพทย์อายุรกรรม เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนผ่าตัด


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

1. การผ่าตัดบริเวณคอ

  • ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดจากทางด้านหน้า ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดทางด้านหน้า ส่วนใหญ่แผลจะเป็นแนวขวางอยู่ทางด้านซ้ายของลำคอ
  • หลังผ่าตัดจะมีสายระบายเลือดที่บริเวณคอ และส่วนใหญ่เอาออกได้ 1-2 วันหลังผ่าตัด
  • มีการใส่สายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปเอาออกได้ภายใน 1 วันหลังผ่าตัด
  • แพทย์อาจพิจารณให้ใส่ปลอกคอ (soft collar) เพื่อจำกัดกิจกรรมการใช้งานคอในช่วงแรก
  • ผู้ป่วยสามารถลุกนั่ง เดินเท่าที่ไหวได้ หลังผ่าตัด
  • นอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1-2 คืน
  • แผลผ่าตัดแห้ง 7-10 วัน


2. การผ่าตัดบริเวณหลังแบบไม่ใส่เหล็กยึดตรึง

  • ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่านกล้อง microscope หรือ กล้อง endoscope
  • อาจใส่สายระบายเลือด 1-2 วัน ในการผ่าตัดผ่านกล้อง microscope
  • ไม่ใส่สายระบายเลือดในการผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope
  • อาจจะมีการใส่สายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปเอาออกได้ภายใน 1 วันหลังผ่าตัด
  • แพทย์อาจพิจารณให้ผ้ารัดหลัง (LS support) โดยเฉพาะในการผ่าตัดหมอนรองกระดูก เพื่อจำกัดกิจกรรมการใช้งานหลังในช่วงแรก เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ
  • ผู้ป่วยสามารถลุกนั่ง เดินเท่าที่ไหวได้ หลังผ่าตัด
  • นอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1-2 คืน
  • แผลผ่าตัดแห้ง 7-10 วัน


3. การผ่าตัดบริเวณหลังแบบใส่เหล็กยึดตรึง

  • ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดที่บริเวณหลังส่วนล่าง อาจเป็นการผ่าตัดแบบเจาะรู หรือ ผ่าตัดเปิดแผลปกติ ขึ้นอยู่กับตัวโรค และ ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน
  • อาจจะมีอาการปวดแผล โดยเฉพาะในวันแรกหลังผ่าตัด มีการให้ยาระงับปวดโดยทีมแพทย์
  • ใส่สายระบายเลือด 1-2 วัน
  • ใส่สายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปเอาออกได้เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดี ส่วนใหญ่ภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด
  • แพทย์อาจพิจารณให้ผ้ารัดหลัง (LS support) เพื่อจำกัดกิจกรรมการใช้งานหลังในช่วงแรก
  • ผู้ป่วยสามารถลุกนั่ง เดินเท่าที่ไหวได้ หลังผ่าตัด
  • นอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 2-4 คืน
  • แผลผ่าตัดแห้ง 10-14 วัน

 

การเตรียมความพร้อมก่อนและหลังผ่าตัดเป็นผลดี ต่อทั้งผู้ป่วย และ แพทย์ผ่าตัด ลดความกังวลใจก่อนผ่าตัด ข้อแนะนำที่กล่าวมาเป็นข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละคนมีความจำเพาะ รวมถึงหัตถการที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แพทย์ในทีมผ่าตัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด

 

เรียบเรียงโดย นพ. ปฤศนัย พฤฒิกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 
แก้ไขล่าสุด: 10 กรกฎาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs