bih.button.backtotop.text

ดูแลสุขภาพผู้หญิง ให้เหมาะกับช่วงวัย

ดูแลสุขภาพผู้หญิง ให้เหมาะกับช่วงวัย

การดูแลสุขภาพผู้หญิงแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงวัยด้วยกัน คือ วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์และวัยทอง โดยในแต่ละช่วงวัย ผู้หญิงจะมีพัฒนาการ อาการและความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆที่แตกต่างกันออกไปได้บ้าง ดังนั้นการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำและการมาพบแพทย์ทันทีที่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ สามารถช่วยป้องกันโรคหรือพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆได้

 

การดูแลสุขภาพในวัยรุ่น

วัยรุ่นหมายถึงผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงอายุไม่เกิน 20 ปี ผู้หญิงกลุ่มนี้มักไม่มีปัญหาโรคร้ายแรง เช่น เนื้องอกหรือโรคมะเร็ง แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ
  • ปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในวันเริ่มมีประจำเดือน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการทานยาแต่หากมีอาการปวดมากจนผิดปกติ ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มาไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนที่ยังไม่เข้าที่ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม หากไม่พบความผิดปกติ จะแนะนำให้สังเกตอาการ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น การที่เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) มีโอกาสเกิดเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกหรือเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้นในกลุ่มวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์หรือจะมีเพศสัมพันธ์ในอนาคตแพทย์จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9) ซึ่งป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือการใช้ถุงยางอนามัย สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด ตั้งแต่เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม เป็นต้น


การดูแลสุขภาพวัยเจริญพันธุ์

วัยเจริญพันธุ์คือวัยที่ผู้หญิงมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไปจนถึงวัยหมดประจำเดือนหรืออายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี ในช่วงวัยนี้ อาจเกิดโรคได้หลากหลายเพราะร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศหญิงมาได้ระยะหนึ่งและเริ่มมีเพศสัมพันธ์ สามารถแบ่งโรคได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
  • โรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในช่วงวัยนี้มีโอกาสเกิดโรคได้มากหากมีเพศสัมพันธ์ตามปกติโดยไม่ป้องกัน โดยสังเกตได้จากอาการ เช่น การมีติ่ง มีก้อน  มีตกขาวเป็นหนองหรือปัสสาวะแสบขัด แพทย์จะทำการรักษาและให้คำแนะนำในการฉีดวัคซีนเอชพีวีและการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
  • โรคติดเชื้อที่ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อ เกิดได้จากความอับชื้น ทำให้มีอาการคันและตกขาว เช่น การสวมกางเกงรัดๆ การใส่แผนอนามัยบ่อยๆ รวมไปถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ทำให้ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากการทำความสะอาดไม่ถูกต้อง เช่น การสวนล้างช่องคลอด เป็นการทำลายแบคทีเรียดีในช่องคลอดและทำให้แบคทีเรียไม่ดีเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ รักษาได้โดยการใช้ยากินและยาสอด
  • เนื้องอกธรรมดา เกิดขึ้นได้หลายแห่ง เช่น เนื้องอกมดลูก (myoma) หรือซีสต์ที่รังไข่ ที่พบได้ทั่วไปคือช็อกโกแลตซีสต์ (chocolate cyst) หรือโรคซีสต์ถุงน้ำในรังไข่ (dermoid cyst) ส่วนใหญ่คนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง ประจำเดือนมาเยอะหรือประจำเดือนมาผิดปกติ หรือไม่มีอาการแต่พบเมื่อมาตรวจร่างกายประจำปี การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค บางรายแพทย์อาจติดตามอาการหรือใช้ยารักษา ในขณะที่บางรายอาจต้องผ่าตัดรักษา
  • เนื้องอกที่เป็นเซลล์ผิดปกติหรือมะเร็งในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีตั้งแต่มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูกและมะเร็งท่อนำไข่ ในคนไข้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว แพทย์แนะนำให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปีและตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวี เพราะช่วยให้พบระยะก่อนมะเร็ง ทำให้รักษาง่ายและหายได้ หากคนไข้มีความเสี่ยงไม่มาก แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีและติดตามผล หากมีความเสี่ยงมาก สามารถรักษาด้วยการจี้เย็นหรือจี้ร้อนหรือคว้านที่ปากมดลูกเพื่อไม่ให้โรคลุกลามกลายเป็นมะเร็ง นอกจากนี้การเจาะเลือดหรือการทำอัลตร้าซาวด์ยังอาจช่วยให้ตรวจพบมะเร็งรังไข่และมะเร็งมดลูกในระยะแรกเริ่มได้เช่นกัน
  • การบาดเจ็บหรือการมีบาดแผลจากเพศสัมพันธ์ เช่น ช่องคลอดฉีดขาดหรืออื่นๆ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
 

การดูแลสุขภาพวัยทอง

วัยทองเป็นวัยที่รังไข่หยุดทำงานหรือรังไข่หยุดผลิตฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนไม่มาและไม่สามารถมีลูกได้ ปัญหาของวัยนี้คล้ายคลึงกับวัยเจริญพันธุ์ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เจอได้คือ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในวัยนี้ยังพบได้หากยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ แนะนำให้ป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยถึงแม้จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้แล้วก็ตาม
  • โรคติดเชื้อที่ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบได้บ่อยขึ้นกว่าวัยเจริญพันธุ์เพราะช่องคลอดหยุดผลิตสารคัดหลั่ง ทำให้ช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบางลงและสภาวะช่องคลอดที่พอมีอายุมากขึ้น ทำให้มีแบคทีเรียดีน้อยลง ส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น หากคนไข้มีการติดเชื้อซ้ำซาก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสอดเพื่อปรับสภาวะช่องคลอด
  • เนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นเซลล์ผิดปกติ โรคมะเร็งจะพบได้มากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจร่างกายและตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูกและมะเร็งรังไข่ หากประจำเดือนหมดไปแล้วหนึ่งปีและมีเลือดกลับมาอีก ถือเป็นความผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในโพรงมดลูกหรือรังไข่ได้
  • อาการของวัยทอง เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากฮอร์โมนเพศที่ลดลง เช่น อาการร้อน เหงื่อออก นอนไม่ค่อยหลับ ไม่ค่อยมีแรง แสบช่องคลอด รวมถึงช่องคลอดหย่อนและมดลูกหย่อน หากมีอาการรุนแรง ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยสามารถรักษาด้วยการใช้ยา การผ่าตัดหรือการใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอด
  • ภาวะกระดูกบางและภาวะกระดูกผุ เมื่อถึงวัยทอง ควรตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกเพื่อดูสภาวะกระดูก ภาวะกระดูกบางและภาวะกระดูกผุจะไม่แสดงอาการ จนกระทั่งหกล้มแล้วกระดูกหัก ภาวะเหล่านี้สามารถป้องกันรักษาได้ด้วยการให้ยากระดูก การให้แคลเซียมหรือให้ยาฮอร์โมน
โรคต่างๆของผู้หญิงในแต่ละช่วงวัยเหล่านี้ หลายโรคสามารถป้องกันได้หรือพบได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางที่พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันโรค การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้หญิงในทุกช่วงวัย



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 09 สิงหาคม 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs