คุมความดันช่วยป้องกันอัลไซเมอร์
งานวิจัยของสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Medical Association Neurology ชี้ให้เห็นว่า
การควบคุมหรือป้องกันความดันโลหิตสูงตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยปกป้องเซลล์สมองและระบบประสาทจากการถูกทำลายที่เกิดขึ้นตามวัยซึ่งรวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ด้วย
สัญญาณแรกเริ่มของ โรคอัลไซเมอร์ เกิดขึ้นเมื่อมีคราบโปรตีนสะสมในสมองซึ่งกินระยะเวลานานหลายปีก่อนที่จะส่งผลกับความทรงจำ ทั้งนี้มีผู้ป่วยเพียง 1 ใน 5 ที่มียีน ApoE4 ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการสะสมของคราบโปรตีนอะไมลอยด์ในสมอง
กลุ่มอาสาสมัครอายุระหว่าง 30-89 ปี ถูกแบ่งตามสภาวะความดันโลหิต (กลุ่มผู้มีความดันสูงแต่ใช้ยาควบคุม กลุ่มผู้ที่ความดันสูงแต่ไม่ใช้ยาควบคุม และกลุ่มที่มีความดันปกติ) และแบ่งกลุ่มย่อยโดยแยกตามยีน ApoE4 อัลลีลซึ่งเป็นตัวควบคุมทางพันธุกรรมที่มีความเกี่ยวพันกับ
ภาวะสมองเสื่อม
กลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่ไม่ได้รับยาควบคุมและมียีนเพิ่มความเสี่ยง มีระดับโปรตีนอะไมลอยด์สะสมสูงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัครกลุ่มอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คือ ผู้ป่วยโรคความดันที่มีการควบคุมโรคด้วยยาและมียีนที่เพิ่มความเสี่ยง ไม่พบการสะสมของคราบโปรตีนอะไมลอยด์สูงกว่าคนปกติที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความดันและไม่ได้มียีนเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้นการควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้มีคุณูปการกับ
โรคหลอดเลือดสมองและ
โรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ในระยะยาวอีกด้วย
หูหนวกฉับพลันอาจเป็นสัญญาณของโรคสมองเสื่อมชนิด CJD
การสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหันของหูทั้งสองข้างเป็นอาการหนึ่งของโรค CJD ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความร้ายแรงถึงชีวิต เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากโรงพยาบาลเฮนรี่ฟอร์ดในสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชนหลังจากที่ทีมแพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยชายวัย 67 ปี ด้วยอาการหูหนวกฉับพลันโดยที่ไม่มีปัญหาอื่นนอกเหนือจากปัญหาการได้ยิน ในการทดสอบ มีการตรวจพบโปรตีนตัวหนึ่งที่มักพบในผู้ป่วย CJD จากนั้นไม่นานผู้ป่วยดังกล่าวมีการรับรู้ลดลง และเสียชีวิตภายในเวลาหนึ่งเดือน
นักวิจัยศึกษาอุบัติการณ์เรื่องนี้อย่างจริงจังโดยการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติทำนองเดียวกัน กล่าวคือ สูญเสียการได้ยินของหูทั้งสองข้าง ไม่มีภาวะอื่น ๆ ทางสุขภาพ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมชนิด CJD และเสียชีวิต ข้อมูลที่ค้นพบทำให้ทีมนักวิจัยเสนอให้ทีมแพทย์ตรวจคัดกรองโรคสมองเสื่อมชนิด CJD ในผู้ป่วยที่มีอาการหูหนวกฉับพลันด้วย
โรคสมองเสื่อมชนิด CJD ทำให้เนื้อเยื่อสมองเกิดรูพรุนซึ่งมีความร้ายแรงถึงแก่ชีวิต โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ ร่างกายกระตุก ความรับรู้ลดลงและสูญเสียความทรงจำ
นอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของอัลไซเมอร์
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science เปิดเผยว่าการนอนไม่หลับอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์
ปัญหาการนอนค่อนข้างพบได้บ่อยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการนอนไม่เพียงพอมีความสัมพันธ์กับการก่อตัวขึ้นของโปรตีนอะไมลอยด์ งานวิจัยฉบับอื่น ๆ ระบุถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างปัญหาการนอนและโรคอัลไซเมอร์ กล่าวคือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมองจากโรคอัลไซเมอร์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ยากขึ้น ขณะที่การนอนไม่พอก็อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองดังกล่าว
มีการศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 145 ราย อายุระหว่าง 45-75 ปีที่ไม่พบสัญญาณว่าเป็นโรคสมองเสื่อมหรือมีปัญหาเรื่องความจำมาก่อน โดยการตรวจวิเคราะห์น้ำจากไขสันหลังพบว่าอาสาสมัครจำนวน 1 ใน 5 มีสารบ่งชี้ของโรคอัลไซเมอร์ และจากการวิเคราะหข้อมูลการนอนหลับและกิจกรรมระหว่างวัน ผู้ที่มีสารบ่งชี้ของโรคอัลไซเมอร์มีคะแนนคุณภาพการนอนหลับร้อยละ 80 ขณะที่ผู้ที่ไม่มีสารบ่งชี้ มีคะแนนคุณภาพการนอนหลับร้อยละ 84 โดยที่ทั้งสองกลุ่มใช้เวลานอนเท่า ๆ กัน แต่กลุ่มแรกไม่อาจหลับอย่างต่อเนื่องได้นาน รวมทั้งหลับ ๆ ตื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม อาการนอนไม่หลับอาจเกิดจากหลายสาเหตุ และไม่ใช่อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป
For more information please contact:
Last modify: November 09, 2020