โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมอย่างช้า ๆ ของสมองซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่การวินิจฉัยโรคและรับการดูแลแต่เนิ่น ๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถช่วยชะลออาการของโรคและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปี สำหรับในประเทศไทยมีการเก็บรวบรวมสถิติการเกิดโรค จากสภากาชาดไทยพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งพบมากในประชากรแถบภาคกลางของประเทศ คนไทยสมัยโบราณรู้จักโรคพาร์กินสันมานานแล้วในนามของ
‘โรคสันนิบาตลูกนก’ แต่ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันคนไทยตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น ผู้ป่วยจึงได้มาพบแพทย์เร็วขึ้นทำให้ได้รับการดูแลแต่เนิ่น ๆ Better Health ฉบับนี้ ได้สัมภาษณ์
แพทย์หญิงอรพร สิทธิ์บูรณะ ผู้เชี่ยวชาญโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ
ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวให้มากขึ้น
“การนำผู้ป่วยโรคพาร์กินสันพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่แนะนำอย่างยิ่ง เพราะการรักษาที่ทันสมัยสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยเหลือตัวเองได้นานขึ้น” พญ. อรพร สิทธิ์บูรณะ
อาการที่พึงสังเกต
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีอาการที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่ การเคลื่อนไหวช้า อาการสั่นของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในท่าพักแต่ดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว และอาการเกร็ง ซึ่งสัมพันธ์กับเซลล์สมองที่ถูกทำลายไปแล้วอย่างน้อยร้อยละ 60 ความผิดปกติที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นผลจากการตายของเซลล์สมองส่วนก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) ในส่วนสับสแตนเชียไนกราซึ่งมีผลทำให้สารสื่อประสาทโดพามีนซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของร่างกายลดลง
การตายของเซลล์สมองในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้มีการดำเนินมาแล้วอย่างน้อย 4-10 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ได้แก่ การเสื่อมของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการดมกลิ่นและก้านสมองส่วนเมดัลลาและพอนส์ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติของลำไส้ การนอนและอารมณ์จิตใจ ดังนั้นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีการได้กลิ่นลดลง ท้องผูก ความผิดปกติทางด้านอารมณ์ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ
อาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือร้องตะโกนขยับแขนขาอย่างรุนแรงในขณะหลับร่วมด้วย อาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งใน
การคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์อาจสังเกตว่ามีการเคลื่อนไหวช้าลง เดินลากขา ไม่แกว่งแขน ตัวแข็งเกร็ง พูดเสียงเบาและช้าลง เขียนหนังสือตัวเล็กลงกว่าเดิม เป็นต้น การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันยังต้องอาศัยการซักถามประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก การตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเพียงการแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการแสดงคล้ายโรคพาร์กินสันออกไป ในปัจจุบันมีการตรวจการทำงานของสมองที่เรียกว่า Functional MRI เช่น F-Dopa Pet Scan ซึ่งสามารถตรวจวัดความผิดปกติของสารโดพามีนในสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้แต่เนื่องจากราคาที่แพงมาก และการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันก็สามารถให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องได้มากกว่าร้อยละ 90 อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง
ตรวจ Functional MRI ในผู้ป่วยทุกรายยกเว้นกรณีที่อาการไม่ชัดเจน
รู้เร็ว กับ การดูแลที่ดีกว่า
จากหลักฐานงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศยืนยันว่าการดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันตั้งแต่เริ่มต้นทั้งในแง่การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและอาการอื่น ๆ ที่ร่วมด้วยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ด้วยการปรับยา การแนะนำเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง การนำผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือบุคคลที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคพาร์กินสันมาปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งที่แนะนำอย่างยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีวิธีการรักษาที่ทันสมัยและหลากหลายทั้งการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดเมื่อโรคดำเนินไปสู่ระยะท้าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดและยาวนานที่สุด
ในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรคยังเป็นการรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองหลายระบบได้แก่ โดพามีน โคลีน อะดรีนาลีน ซีโรโทนิน และอื่น ๆ ดังนั้นยาที่ใช้ในปัจจุบันจึงถูกคิดค้นให้ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทต่าง ๆ เหล่านี้
“ในอนาคต การศึกษาจะเน้นไปที่การคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เริ่มมีความผิดปกติในสมองแต่ยังไม่เริ่มมีอาการของการเคลื่อนไหวผิดปกติ”
ยาพาร์กินสันที่ใช้บ่อย ๆ ในทางคลินิก ได้แก่ยาที่เป็นสารตั้งต้นของสารโดพามีนยาที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับโดพามีน หรือยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารโดพามีนในสมอง เมื่อการตายของเซลล์สมองเพิ่มขึ้นตามการดำเนินของโรคจนถึงระยะท้าย ผู้ป่วยจะมีปัญหาอย่างมากในการดำเนินชีวิตด้วยตนเองและต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิด จากปัญหาผลข้างเคียงของการใช้ยามาเป็นเวลานานได้แก่ อาการของโรคไม่ค่อยตอบสนองต่อยาหรือมีการเคลื่อนไหวยุกยิกผิดปกติ แพทย์อาจต้องพิจารณาการรักษาอื่น ๆ ตามความเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น
การผ่าตัดฝังตัวกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) หรือการให้ยากระตุ้นตัวรับโดพามีนอย่างต่อเนื่องทางใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Apomorphine Pump) หรือการให้สารโดพามีนอย่างต่อเนื่องทางลำไส้เล็ก (Intrajejunal Duodopa Infusion)
อนาคตกับการรักษาโรคพาร์กินสัน
แม้ในปัจจุบัน
การรักษาโรคพาร์กินสันยังเป็นการรักษาผู้ป่วยเพื่อประคับประคองอาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การค้นคว้าวิจัยยังดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด แพทย์หญิงอรพรบอกว่ามีงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการผลิตยาใหม่ ๆ ที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยา ลดผลข้างเคียงของยาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การบริหารยาในรูปแบบใหม่ ๆ อาทิเช่น ยาแปะ ยาฝังใต้ผิวหนังในอนาคต การศึกษาจะเน้นไปที่การคัดกรองผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เริ่มมีความผิดปกติในสมองแต่ยังไม่เริ่มมีอาการของการเคลื่อนไหวผิดปกติ ด้วยความหวังที่จะใช้ยาใหม่หรือวิธีการที่จะชะลอการดำเนินของโรคจนถึงการรักษาโรคให้หายขาด มีการศึกษาอื่น ๆ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการวิจัยเช่น
การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell therapy) และพันธุกรรมบำบัด (gene therapy) ด้วยการให้ไวรัสซึ่งเป็นตัวพายีนส์ที่สร้างโปรตีนนิวโรโทรปิกแฟกเตอร์ที่จะส่งเสริมเซลล์สมองให้เติบโต และคงอยู่ได้ซึ่งเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยต่อไป
สุดท้าย แพทย์หญิงอรพรฝากถึงผู้อ่านไว้ว่า “ประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุแล้ว ลูกหลานควรใส่ใจดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวเพื่อให้บุคคลอันเป็นที่รักของท่านได้มีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถดูแลตัวเองได้เพื่อลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัว”
เกิดอะไรขึ้นในสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของสมอง เนื่องจากเซลล์สมองบริเวณส่วนลึกเบซอลแกงเกลีย และก้านสมองมิดเบรนในส่วนสับสแตนเชียไนกรามีความผิดปกติอย่างช้า ๆ ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีส่วนในการสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดพามีนซึ่งช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจึงมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวผิดปกติซึ่งเป็นอาการที่สำคัญของโรค
อาการที่น่าสงสัยของโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงอย่างช้า ๆ การวินิจฉัยโรคแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น ลองสังเกตตัวเองและคนในครอบครัวว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
- สั่น
- การเคลื่อนไหวช้า
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- การทรงตัวไม่ดี เสียงค่อยและเบาลง
- สีหน้าไร้อารมณ์
- หลังค่อม ตัวงุ้มลง
- ความสามารถในการได้กลิ่นลดลง
- ท้องผูก
- ตะโกนร้อง หรือมีการขยับแขนขาอย่างรุนแรงในขณะหลับ
- เขียนตัวหนังสือเล็กลง
หากพบว่ามีอาการข้างต้นร่วมกันหลายประการ ควรรีบปรึกษาแพทย์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 ตุลาคม 2566