bih.button.backtotop.text

ปฏิวัติการรักษาโรคไมเกรนด้วยยายับยั้งสาร CGRP

ปฏิวัติการรักษาโรคไมเกรนด้วยยายับยั้งสาร CGRP

โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะอย่างรุนแรง ถึงแม้ผู้ป่วยบางคนจะปวดศีรษะไมเกรนแบบชั่วครั้งชั่วคราว (episodic migraine) หรือปวดศีรษะไมเกรนน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายๆด้านเช่นต้องหยุดงาน หยุดดูแลคนในครอบครัว นอกจากนี้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้อง อาจทำให้การรักษายากยิ่งขึ้นหรือกลายเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง (chronic migraine)

ในปัจจุบัน มีการค้นพบว่าผู้ป่วยไมเกรนจะหลั่งสาร CGRP ออกมามากเมื่อมีอาการปวดหัว ทำให้มีการผลิตยายับยั้งสาร CGRP (anti-CGRP) หลายชนิดขึ้นมาเพื่อลดหรือยับยั้งการผลิตสาร CPRP ในสมองของผู้ป่วยไมเกรน

 

สาร CGRP คืออะไร

สาร CGRP (Calcitonin Gene Related Peptide) เป็นสารสื่อประสาทหรือนิวโรเปปไทด์ (neuropeptide) ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกาย และมีอยู่มากที่สุดบริเวณของเส้นประสาทคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทรับความรู้สึกปวดบริเวณใบหน้าและศีรษะ สาร CGRP ทำให้หลอดเลือดในสมองขยายตัวและทำให้เกิดการอักเสบในสมองที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Neurogenic inflammation) รวมถึงเป็นตัวนำสื่อสัญญาณการรับรู้ความรู้สึกเข้าไปในสมอง กระบวนการ 3 อย่างของสาร CGRP ที่กล่าวมานี้ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวในผู้ป่วยไมเกรน


 

ยายับยั้งสาร CGRP มีกี่ชนิด

ยายับยั้งสาร CGRP มีทั้งหมด 2 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกัน ดังนี้
  • CGRP monoclonal antibodies (mAbs): ในปัจจุบันมียาทั้งหมด 4 ชนิด โดยหนึ่ง ชนิดเป็นยาฉีดใต้ผิวหนังที่ไปจับกับตัวรับสัญญาณ (receptor) ของ CGRP และยาอีก 3 ชนิดที่เป็นยาพุ่งเป้าโดยตรงต่อสาร CGRP ซึ่งมี 3 ชนิดเป็นยาฉีดใต้ผิวหนังและอีก 1 ชนิดเป็นยาที่ให้ทางหลอดเลือด (IV form) ยาในรูปแบบฉีดใต้ผิวหนังต้องฉีดทุก 1 เดือน ส่วนยาที่ให้ทางหลอดเลือด ต้องให้ทุก 3 เดือน ยาทุกตัวควรใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 12-18 เดือน ตามคำแนะนำของสหพันธ์การปวดศีรษะแห่งยุโรป (European Headache Federation)  
  • Gepants: เป็นสารโมเลกุลเล็กที่ไปจับกับตัวรับสัญญาณของ CGRP โดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบยากิน ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่เพียงชนิดเดียว แต่ความพิเศษคือยาดังกล่าวสามารถรับประทานได้ทั้งในรูปแบบของยาแก้ปวดและยาป้องกัน โดยรับประทาน 1 เม็ดเมื่อมีอาการปวด หรือรับประทานวันเว้นวันเพื่อป้องกัน
 

ยายับยั้งสาร CGRP มีผลข้างเคียงหรือไม่

ยายับยั้ง สาร CGRP ทุกตัวมีความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาพุ่งเป้า แทบไม่มีผลข้างเคียงใดๆ สำหรับยาที่ไปจับกับตัวรับสัญญาณบางตัวอาจทำให้มีอาการท้องผูกได้ บางตัวอาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลียและวิงเวียนนิดหน่อยในช่วงแรกๆหรือบางคนอาจรู้สึกเจ็บหรือว่ามีผื่นขึ้นในตำแหน่งที่ฉีดยาได้

 

ยายับยั้งสาร CGRP เหมาะกับใครบ้าง

ยายับยั้งสาร CGRP ทุกชนิดใช้ได้กับผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีถึง 65 ปี เหมาะกับผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนตั้งแต่ 4 วันขึ้นไปต่อเดือนไปจนถึงผู้ที่ปวดเรื้อรังเกินกว่า 15 วันต่อเดือน สำหรับยาแต่ละชนิดอาจมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ยายับยั้งสาร CGRP บางตัวทเหมาะกับผู้ที่เป็นไมเกรนที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ยาบางตัวเหมาะกับผู้ที่เป็นไมเกรนเรื้อรังและใช้ยาแก้ปวดที่มากจนเกินไป (Medication Overuse Headache) ยาบางชนิดอาจเหมาะสมกับผู้ที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาลบ่อยๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดในกลุ่มยับยั้งสาร CGRPก็ให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีโดยมีผลข้างเคียงที่น้อยมาก อนึ่งการให้ยาในกลุ่มดังกล่าว ถ้าให้ยาตั้งแต่ผู้ป่วยยังปวดศีรษะต่อเดือนไม่มาก จะให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการให้ยาตอนที่อาการปวดศีรษะเป็นเรื้อรังแล้ว ตามหลักการของ Medication Underuse Headache*

 

มีข้อควรระวังในการใช้ยายับยั้งสาร CGRP อย่างไร

ยายับยั้งสาร CGRP สามารถใช้ต่อเนื่องได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่มีข้อระวังสำหรับยารับประทานยับยั้ง CGRP ในการใช้กับยาในกลุ่ม CYP3A4 เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาปฏิชีวนะบางตัว เพราะจะทำให้ยาตัวอื่นออกฤทธิ์มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังห้ามใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคหลอดเลือดบริเวณปลายมือปลายเท้าตีบ  รวมถึงสตรีมีครรภ์ สำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เมื่อวางแผนที่จะตั้งครรถ์เสมอ

 

ยายับยั้งสาร CGRP ให้ผลลัพธ์ในการรักษามากน้อยแค่ไหน

จากผลงานวิจัยพบว่าผู้ป่วย 30 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์  มีอาการปวดหัวต่อเดือนลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และส่วนใหญ่จะเห็นผลตั้งแต่เดือนแรกของการใช้ยา และเห็นผลเต็มที่เมื่อใช้ยาได้ประมาณ 3 เดือน ในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนแบบชั่วครั้งชั่วคราว  บางคนอาการอาจหายไปเลยก็ได้
ทีมแพทย์ของศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีความชำนาญเฉพาะทางด้านโรคปวดศีรษะ (headache medicine) และมีประสบการณ์สูงในการวินิจฉัยและรักษาโรคไมเกรนในทุกรูปแบบอย่างตรงจุด ไม่ว่าจะยากหรือซับซ้อนเพียงใด เรามีทีมพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้และความชำนาญในการให้ยาไมเกรนทั้งในรูปแบบฉีดและทางหลอดเลือด ในสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายและเป็นส่วนตัว



เรียบเรียงโดย นพ. วนกร รัตนวงษ์ 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 11 ธันวาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs