ปวดหัว โรคใกล้ตัวคนทุกวัย
อาการปวดหัวเป็นอาการปวดที่พบได้บ่อยมากที่สุด คนทุกคนคงเคยปวดหัวกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย บางคนปวดชั่วคราว ปวดเล็กๆน้อยๆ หายเองได้ บางคนปวดรุนแรง ปวดบ่อยครั้ง จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาการปวดหัวส่วนใหญ่ไม่อันตราย แต่โรคปวดหัวบางประเภทอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงได้
อาการปวดหัวมีกี่ประเภท
- อาการปวดหัวที่เกิดจากโรคในสมองหรือเส้นประสาทบริเวณศีรษะหรือใบหน้า ซึ่งมีอยู่หลากหลายโรคและมีอาการแตกต่างกันไป มีทั้งปวดแบบเรื้อรังหรือปวดแบบรุนแรงฉับพลัน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเส้นประสาททำงานผิดปกติ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ติดเชื้อในสมอง เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่อยู่
- อาการปวดหัวจากชีวิตประจำวัน อาการปวดหัวที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางสมอง แต่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาจทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงปวดรุนแรง อาการปวดในกลุ่มนี้มักเกิดจากกล้ามเนื้อตึงตัว ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือที่เรารู้จักกันดีคือ office syndrome ทำให้ปวดบริเวณบ่า ต้นคอ ท้ายทอย เหมือนมีอะไรมารัดรอบศีรษะหรือมากดทับบนศีรษะ โดยอาจปวดเป็นวัน เป็นเดือน หรืออาจเป็นปีก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากกระดูกคอเสื่อม สายตาผิดปกติ การแพ้อาหาร กลิ่นน้ำหอม การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยากลุ่มขยายหลอดเลือดบางตัว
- อาการปวดหัวจากโรคปวดหัว มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่อาจทำให้ปวดหัวรุนแรงจนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
- โรคปวดหัวไมเกรน มักพบว่าเริ่มเป็นในช่วงอายุ15 ถึง 30 ปี พบในผู้หญิงมากกว่า ลักษณะเด่นคือ ทำให้มีอาการปวดหัวปานกลางถึงรุนแรง เวลาปวดจะปวดมาก และอาจมีอาการคลื่นไส้ กลัวแสงกลัวเสียงดัง ร่วมด้วย แต่เวลาหายมักจะหายสนิท อาจปวดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ความถี่ห่างในเกิดอาการแตกต่างกัน บางคนปวดเกือบทุกวัน บางคนหลายเดือนเป็นครั้งหนึ่ง บางคนห่างเป็นปี แม้ยังไม่มียาที่ทำให้หายขาด แต่ปัจจุบันมียาชนิดใหม่ที่สามารถควบคุมอาการได้ดีมาก
- โรคปวดหัวคลัสเตอร์ อาการปวดรุนแรงคล้ายโรคไมเกรน แต่พบน้อยกว่า และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาการเด่นคือปวดหัวข้างเดียวติดต่อกันเป็นเดือนๆ โดยเวลาปวดมักจะมีน้ำตา น้ำมูกไหลและตาแดงข้างหนึ่งร่วมด้วย
ปวดหัวแบบไหน ควรมาพบแพทย์
- ปวดหัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปวดหัวเรื้อรังจนต้องกินยาแก้ปวดบ่อย
- ปวดหัวเมื่อทำกิจกรรมที่ใช้กำลัง หรือ ขณะไอหรือก้มตัว หรือปวดมากตอนเช้าหลังตื่นนอน
- ปวดหัวข้างเดียวเป็นระยะเวลานานๆโดยไม่เปลี่ยนข้าง
- ปวดหัวรุนแรง ฉับพลัน และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกสับสน เป็นลม คลื่นไส้หรืออาเจียน มีไข้สูง รู้สึกชาหรืออ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง เห็นภาพซ้อน เสียการทรงตัว หรือ พูดไม่ชัด
ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางผู้มีประสบการณ์ในการวินิจฉัยและรักษาโรคปวดหัวทั่วไป รวมถึงโรคปวดหัวที่วินิจฉัยได้ยาก มีความซับซ้อนและรุนแรง เรามีเทคโนโลยีและรวมถึงวิธีการรักษาที่ทันสมัย ทำให้สามารถรักษาอาการปวดหัวทุกประเภทได้อย่างตรงจุด
เรียบเรียงโดย
นพ. เขษม์ชัย เสือวรรณศรี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 11 ธันวาคม 2567