โรคไมเกรนเรื้อรัง รักษาได้ ไม่ต้องทนทรมาน
อาการปวดหัวจาก
โรคไมเกรนเรื้อรัง นอกจากสร้างความปวดทรมานแล้ว ยังทำลายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ชีวิตครอบครัว สังคมหรือหน้าที่การงาน จนนำไปสู่โรควิตกกังวลและอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยบางราย
โรคไมเกรนเรื้อรังคืออะไร
โรคไมเกรนเรื้อรัง หมายถึง ผู้ที่มีอาการปวดหัว 15 วันต่อเดือนขึ้นไป โดยมีอาการปวดหัวในลักษณะของไมเกรนอย่างน้อย 8 วันต่อเดือนเป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน
สาเหตุของโรคไมเกรน
ในปัจจุบันเราทราบจากภาพเอกซเรย์สมองว่า สมองส่วนไฮโปทาลามัสและก้านสมองของผู้ป่วยโรคไมเกรนมีความผิดปกติในการควบคุมสัญญาณการปวด ทำให้ผู้ป่วยไวต่อสิ่งกระตุ้นทั้งภายนอกและภายในร่างกายหลายอย่าง เช่น แสงแดด อากาศเปลี่ยนแปลง กลิ่น อารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน อาการหิว อาหารหรือยาบางชนิด
อาการปวดหัวไมเกรนเป็นอย่างไร
- อาการปวดหัวระดับปานกลางถึงรุนแรง
- มักจะปวดหัวตุ้บๆ โดยปวดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
- บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- มีความไวต่อแสง เสียง กลิ่น
- ปวดหัวเมื่อมีการขยับร่างกายหรือเปลี่ยนกิจกรรม เช่น ลุกจากเก้าอี้ เดินขึ้นลงบันได
- บางคนอาจรู้สึกเสียวที่หนังศีรษะหากเป็นมานาน
- ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยไมเกรนจะมีอาการนำหรืออาการเตือนล่วงหน้า เช่น เห็นแสงเป็นเส้นหยักๆ รู้สึกชายิบๆที่มือ ที่ปาก หรือพูดติดขัด
วินิจฉัยโรคไมเกรนเรื้อรังได้อย่างไร
การวินิจฉัยโรคไมเกรน ต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในการวินิจฉัย เพราะอาการปวดหัวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงที่แฝงอยู่ การวินิจฉัยเน้นการซักประวัติ โดยใช้เกณฑ์ของ The International Headache Society: ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเอ็มอาร์ไอหรือว่าซีทีสแกน หากมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเป็นครั้งแรก เพื่อใช้ยืนยันผลการวินิจฉัย
รักษาโรคไมเกรนเรื้อรังได้ด้วยวิธีใดบ้าง
ปัจจุบันการรักษาโรคไมเกรนมีความก้าวหน้าไปมาก มียาที่มีประสิทธิภาพสูงหลายชนิด รวมถึงมีวิธีการที่หลากหลายมากกว่าแต่ก่อน
ยารักษาโรคไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือยาป้องกัน ซึ่งต้องกินอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความรุนแรงและความถี่ในการเกิดไมเกรนและยาระงับปวดที่ใช้เมื่อมีอาการปวดไมเกรน
- ยาระงับปวด มีหลายชนิด ตั้งแต่ยาระงับปวดทั่วไปจนถึงยาแก้ปวดที่เฉพาะเจาะจงต่อไมเกรน
- ยากินป้องกันไมเกรน เป็นยารักษาโรคอื่นที่ใช้รักษาไมเกรนได้ เช่น ยาแก้ซึมเศร้า ยาความดัน ยากันชัก ซึ่งโอกาสได้ผลในการป้องกันไมเกรนมีประมาณ 30 – 60 เปอร์เซ็นต์หรือได้ผลช้ามาก ต้องใช้เวลาในการปรับยานานและมักมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกมึน ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น ผมร่วง บางคนมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้าหลังจากใช้ยา
- ยาป้องกันไมเกรนกลุ่ม anti CGRP (Calcitonin Gene-Related Peptide) ซึ่งในปัจจุบันมีในรูปแบบยาฉีดใต้ผิวหนัง ทุก 1-3 เดือน ยาให้ทางเส้นเลือด (IV form) ทุก 3 เดือน และยากินวันเว้นวัน ช่วยลดความถี่ในการปวดหัวได้ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ระยะเวลาในการปวดสั้นลงและไม่รุนแรงเท่าเดิม ยามีผลข้างเคียงน้อยมาก
- การฉีดโบท็อกซ์ (Botulinum Toxin) เพื่อยับยั้งสารสื่อประสาทที่ทำให้ปวดหัวไมเกรน โดยฉีดทุก 3 เดือนครั้งละ 31 ถึง 39 จุด เห็นผลหลังจากฉีดประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต้องฉีดทุก 3 เดือนทั้งหมด 5 รอบ หากดีขึ้น แพทย์จะฉีดห่างเป็น 4 เดือนและ 5 เดือนและอาจเลิกฉีดได้ในที่สุด โบท็อกซ์ช่วยลดความถี่ในการปวดหัวและมีผลข้างเคียงน้อยมาก
- การใช้ยากลุ่ม anti CGRP ร่วมกับการฉีดโบท็อกซ์ สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีการเดียวแล้วไม่ได้ผล
- กลุ่มการรักษาอื่นๆที่ไม่ใช้ยา เช่น การบล็อกเส้นประสาท ใช้รักษาไมเกรนบางประเภทได้ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันการปวดหัวไมเกรน
และแพทย์จะพิจารณาตรวจ
เอ็มอาร์ไอ เพิ่มเติม ในกรณีที้สงสัยว่าปวดหัวเกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางที่ประสบการณ์สูงในการรักษาโรคปวดหัวไมเกรน โดยเฉพาะโรคไมเกรนเรื้อรัง ที่ซับซ้อนและรักษายาก ทีมแพทย์ของเรามีความชำนาญในการวินิจฉัยและการรักษาด้วยวิธีการที่หลากหลายครอบคลุม เหมาะสมกับอาการและความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย
เรียบเรียงโดย
นพ. วนกร รัตนวงษ์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 11 ธันวาคม 2567