กระดูกพรุน โรคของกระดูกที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะกระดูกหักหรือกระดูกสันหลังผิดรูปในสตรีสูงอายุ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่การดูแลร่างกายตัวเองร่วมกับการดูแลจากแพทย์จะช่วยให้สามารถควบคุมและลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
โรคกระดูกพรุนคืออะไร
โรคกระดูกพรุน คือ โรคกระดูกชนิดหนึ่งที่กระดูกเริ่มเสื่อมและบางลง เนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก โดยโรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดนอกจากกระดูกแตกหรือหัก พบได้บ่อยบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก หรือข้อมือ รวมทั้งยังสามารถเกิดได้กับกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย
กระดูกพรุนเกิดจากอะไร
โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่เกิดจากการสูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงเนื่องจากหมดประจำเดือน โดยพบว่า 25% ของสตรีที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงสตรีที่หมดประจำเดือนเร็วหรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปีก็จะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนได้มาก นอกจากนี้ยังพบว่าอายุก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน โดยประมาณหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว กระดูกจะบางลง 1-3% ทุกปี
นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน ขาดวิตามินดีหรือแคลเซียม ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ สูบบุหรี่ น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจากการโหมออกกำลังกายหรืออดอาหาร ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด ฮอร์โมนไม่สมดุล เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เป็นต้น
บุรุษเป็นโรคกระดูกพรุนได้หรือไม่
ในเพศชายก็เป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าเพศหญิง โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคคือ โรคพิษสุราเรื้อรังและการขาดฮอร์โมนเพศชาย
ป้องกันโรคกระดูกพรุนทำอย่างไร
โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ โดย
- ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารให้สมส่วน โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ร่างกายจึงควรได้รับแร่ธาตุทั้ง 2 นี้อย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กจนถึงตลอดช่วงอายุเพื่อความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งจะสมบูรณ์ที่สุดในช่วงอายุ 20 ปลายๆ หรือ 30 ต้นๆ
- งดสูบบุหรี่และจำกัดเครื่องดื่มมึนเมารวมถึงสารคาเฟอีน เนื่องจากมีส่วนทำลายกระดูก
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะในวัยเกิน 50 ปีควรเข้ารับเข้าตรวจวัดกระดูกเพื่อป้องกันการเสื่อมแต่เนิ่นๆ
เรียบเรียงโดย นพ.วิทูร บุญถนอมวงศ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 06 กรกฎาคม 2567