การใช้ฮอร์โมนเพื่อยืนยันเพศสภาพในเด็กและวัยรุ่นมีกี่ประเภท
การใช้ฮอร์โมนเพื่อยืนยันเพศสภาพในเด็กและวัยรุ่น มีอยู่สองประเภทด้วยกัน คือ
- ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (pubertal blocker) เป็นการใช้ฮอร์โมน GnRH agonist เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไม่ให้มีการเจริญเติบโตของลักษณะทางร่างกายตามเพศกำเนิดซึ่งไม่ใช่เพศที่แท้จริง จนกว่าจะถึงอายุที่เหมาะสมในการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ สามารถเริ่มใช้ได้เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตามเกณฑ์ของ Tanner ระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 8-13 ปีในเพศหญิงโดยกำเนิด และ 9-14 ปีในเพศชายโดยกำเนิด
- ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ เป็นการใช้ฮอร์โมนเพศ (sex hormone) เพื่อทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่แท้จริง เริ่มใช้ได้ตั้งแต่อายุ 14-16 ปีขึ้นไป
ประโยชน์ของการใช้ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพมีอะไรบ้าง
ประโยชน์ของการใช้ฮอร์โมนมีดังนี้
- ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ คือ ทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการ ลดความทุกข์ทรมานจากการที่ร่างกายไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่แท้จริง ไม่เกิดภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าจากการที่มีลักษณะทางเพศที่ไม่ต้องการ เช่น เพศชายจะไม่มีอวัยวะเพศที่ใหญ่ขึ้น ไม่มีไหล่กว้าง เพศหญิงจะไม่มีเต้านมที่โตและไม่มีประจำเดือน
- ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ ช่วยให้วัยรุ่นได้มีร่างกายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่แท้จริงของตน เช่น จากเพศชายเป็นเพศหญิง ทำให้มีเต้านม และผิวที่เนียนขึ้น มีสะโพก หรือจากเพศหญิงเป็นเพศชาย ทำให้มีเสียงทุ้มลง มีหนวดเครา เต้านมขนาดเล็กลงและไม่มีประจำเดือน
การใช้ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพมีผลข้างเคียงหรือไม่
การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ แม้จะมีผลดีต่อสุขภาพผู้รับบริการ แต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน เช่น ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลต่อไขมันในร่างกาย หรือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน มีผลต่อความเข้มข้นของเลือด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจติดตามระดับเลือดทุก 3 เดือนในช่วง 1 ปีแรก หลังจากนั้นสามารถติดตามทุก 6-12 เดือน
ต้องใช้ฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพเป็นระยะเวลานานเท่าใด
จากข้อมูลงานวิจัยและแนวทางเวชปฏิบัติในปัจจุบัน แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะถึงภาวะวัยทองที่ไม่ต้องการฮอร์โมนแล้ว หากไม่รับฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลักษณะทางกายที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วกลับมาเป็นแบบเดิมได้ นอกจากมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศในร่างกายยังส่งผลต่อสุขภาพของกระดูกในระยะยาว
ต้องการเข้ารับบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ ต้องทำอย่างไรบ้าง
การเข้ารับบริการฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพมี 2 ขั้นตอนด้วยกันคือ
- ขั้นตอนการประเมินเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาเบื้องต้น โดยสามารถปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ กุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อช่วยในการประเมิน
- ขั้นตอนการให้ฮอร์โมนบำบัด สามารถเข้ารับการรักษาจากกุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่นและแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ
ทำไมจึงแนะนำให้เก็บเซลล์สืบพันธุ์ก่อนรับฮอร์โมนเพื่อการยืนยันเพศสภาพ
เนื่องจากฮอร์โมนที่ได้รับมีผลกระทบต่อการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในอนาคต ดังนั้นสำหรับผู้รับบริการที่อนาคตอยากมีบุตรจากเซล์สืบพันธุ์ของตนเอง แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เพื่อเก็บอสุจิหรือเก็บไข่ไว้ก่อนการเริ่มให้ฮอร์โมนบำบัด
ผู้ปกครองต้องเซ็นให้ความยินยอมหรือไม่
หากผู้รับบริการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแต่หากอายุเกิน 18 ปี สามารถเข้ารับบริการได้ด้วยตัวเอง
คลินิก Pride โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้บริการในรูปแบบ one stop service โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการดูแลรักษาบุคคลความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา วินิจฉัยและการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ รวมไปถึงการเก็บเซลล์สืบพันธุ์และการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพในอนาคต
เรียบเรียงโดย พญ. ลลิต ลีลาทิพย์กุล
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 22 พฤษภาคม 2566