การที่มี
หลอดเลือดสมองตีบนั้น บางครั้งยังไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่ถ้าทิ้งไว้จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อ
โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ การหาความเสี่ยงและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก วิธีที่ง่ายๆและรวดเร็วก็คือตรวจโดยเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ (คลื่นเสียงความถี่สูง)เพื่อตรวจหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดบริเวณคอที่ส่งเลือดจากหัวใจไปยังสมอง เพื่อวิเคราะห์การไหลเวียนของเลือดของเลือด
ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมอง
การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองมีประโยชน์ในการ ตรวจหาคราบไขมันที่เกาะบริเวณผนังหลอดเลือด สามารถตรวจดูลักษณะของคราบไขมันและภาวะเลือดออกใต้คราบไขมัน ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่ภาวะสมองขาดเลือดได้ อีกทั้งยังสามารถดูความหนาของผนังหลอดเลือดได้ หากมีความหนาเกินค่าปกติ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อ
โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง นอกจากนี้ในกรณีที่มีการตีบ การตรวจวัดความเร็วของการไหลของเลือดจะสามารถจำแนกความรุนแรงของการตีบแคบของหลอดเลือด เพื่อช่วยในการเลือกวิธีการรักษาอีกด้วย
ประเภทการตรวจ
การตรวจอัลตราซาวด์สมองแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- Carotid Doppler Ultrasound: เป็นการตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวณคอที่ส่งเลือดจากหัวใจไปยังสมอง คือ หลอดเลือด Carotid กับหลอดเลือด Vertebral ช่วยประเมินการไหลเวียนของเลือด การอุดตันหรือการตีบแคบของหลอดเลือด
- Transcranial Doppler Ultrasound (TCD): การตรวจการไหลเวียนของหลอดเลือดใหญ่ต่างๆในสมองที่เป็นแขนงของ หลอดเลือด carotid และ vertebral ที่คอ เพื่อวินิจฉัย การอุดตันหรือการตีบแคบของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดในสมองหดเกร็งจากภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid Hemorrhage) อีกด้วย
ใครบ้างที่เหมาะกับการตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดสมอง
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการมีคราบหลอดเลือดหรือเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น
โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ หรือคนทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองมีอย่างไรบ้าง
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหาร สามารถตรวจได้เลย ระหว่างการตรวจ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและทาเจลบริเวณที่ตรวจ หลังจากนั้นจะใช้หัวตรวจของเครื่องอัลตราซาวด์แตะที่ผิวหนังเบาๆบริเวณที่ต้องการตรวจ เช่น ลำคอและบริเวณศีรษะ เช่น ขมับและด้านหลังของศีรษะ เพื่อถ่ายภาพหลอดเลือดและดูความผิดปกติต่างๆ การตรวจใช้เวลาประมาณ 15 -2 0 นาที หลังการตรวจ แพทย์จะอธิบายผลการตรวจและวางแผนการรักษาหากพบความผิดปกติจากการตรวจ ในผู้ป่วยบางรายที่มีการตีบมากอาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจ
MRI หรือ การตรวจ MRA
วิธีการรักษา
หากพบการตีบของหลอดเลือดการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งอาจรักษาโดยการใช้ยา การใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือดและการผ่าตัด
การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงหรือไม่
การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่มีรังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ใช้เวลาไม่นานก็ทราบผล และไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดใดๆ
ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทครอบคลุมทุกสาขา พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคทางระบบประสาททุกชนิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
โดย
พญ. ดารกุล พรศรีนิยม
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 26 มิถุนายน 2567