วิตามิน อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์และเสริมสร้างความจำ
ผลวิจัยล่าสุดได้ช่วยจุดประกายความเป็นไปได้ในการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำในกลุ่มคนที่มีสุขภาพแข็งแรง
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neuroscience โดยรายงานว่าวิตามินบี 3 ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยให้หนูทดลองมีระบบการทำงานด้านความจำที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดระดับโปรตีนที่ก่อให้เกิดความเสียหายของระบบประสาทอันเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ได้
วิตามิน บี 3 ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า นิโคตินาไมด์ พบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา มันฝรั่ง และในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยก่อนหน้านี้มีงานวิจัยระบุว่าวิตามินบี 3 สามารถลดการอักเสบและบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้เช่นกัน
ในกรณีของ
โรคอัลไซเมอร์นั้น นักวิจัยทำการทดสอบโดยให้หนูทดลองที่มีอาการอัลไซเมอร์ ดื่มน้ำเสริมวิตามินบี 3 ซึ่งต่อมาพบว่าระดับของสารเคมี phosphorylated tau protein ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ในหนูทดลองลดระดับลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผลการทดสอบแบบเดียวกันในหนูทดลองที่มีสุขภาพแข็งแรงก็พบว่าหนูในกลุ่มนี้มีพัฒนาการด้านความจำที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์จำนวนมากจะยอมรับผลการวิจัยครั้งนี้ แต่เมื่อการทดลองในมนุษย์ยังไม่แล้วเสร็จ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หรือหันมารับประทานวิตามินบี 3 ในขณะนี้จึงยังไม่มีความจำเป็น
อาการปวดเรื้อรังมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางสมอง
งานวิจัยตีพิมพ์ล่าสุดในวารสาร Journal of Neuroscience ระบุว่าอาการปวดเรื้อรังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสมองซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อผู้ป่วย และนี่อาจบอกเราได้ว่าเหตุใดผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังจึงมักมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความรู้สึกหดหู่และวิตกกังวล
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบปฏิกิริยาตอบสนองของสมอง ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ารับการทดสอบออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดีและกลุ่มของผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งทั้งสองกลุ่มถูกทดสอบง่าย ๆ ด้วยการให้จับตาดูแถบสีที่เคลื่อนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งระหว่างนั้น นักวิจัยจะบันทึกภาพปฏิกิริยาตอบสนองจากสมองโดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุ
ผลก็คือสมองของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะมีการเคลื่อนไหวในภาวะที่ผ่อนคลาย ขณะที่ภาพถ่ายปฏิกิริยาทางสมองของกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังกลับแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในบริเวณส่วนหน้าของพื้นที่สมองรอบนอก แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังจะมีปฏิกิริยาตอบสนองทางสมองแตกต่างจากกลุ่มผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงนั่นเอง
การออกกำลังกายช่วยลดความรุนแรงและความบกพร่องทางระบบประสาทจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้รับการยืนยันโดยผลการศึกษาจากประเทศเดนมาร์ค ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Neurology แล้วว่า สามารถลดความรุนแรงจากอาการหลอดเลือดสมองตีบและความบกพร่องทางระบบประสาทอันเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบในระยะยาวได้
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ประเมินพฤติกรรมการออกกำลังกายในกลุ่มผู้ใหญ่ราว 300 คน ที่มีอาการหลอดเลือดสมองตีบในระยะแรกเริ่ม พบว่าผู้ที่ใช้ชีวิตค่อนข้างแอ็คทีฟจะมีอาการเจ็บปวดอันเนื่องมาจากโรคน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายถึง 2 เท่า และยังพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการบกพร่องทางระบบประสาทอันเนื่องมาจากโรคหลอดเลือดสมองตีบเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
หลายคนทราบดีว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมอย่างการออกกำลังกาย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ ข้อมูลล่าสุดนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า การออกกำลังนั้นมีประโยชน์เสมอแม้ในกลุ่มผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบแล้วก็ตาม
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: