ภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หรือ Dementia เป็นคำที่แพทย์ใช้อธิบายกลุ่มอาการของโรคทางสมองหลายโรค โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ซึ่งถือเป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือร้อยละ 50 - 703 ส่วนภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ ที่พบรองลงมา ได้แก่
- ภาวะสมองเสื่อมจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ
- ภาวะสมองเสื่อมจากการพัฒนาของโปรตีนที่ผิดปกติภายในเซลล์สมอง (Lewy Body Dementia)
- ภาวะสมองเสื่อมแบบ Frontotemporal ซึ่งเป็นความปกติที่เกิดขึ้นด้านหน้าและด้านข้างของสมอง
- ภาวะสมองเสื่อมแบบผสมซึ่งเกิดจากสาเหตุมากกว่าหนึ่งสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ร่วมกับภาวะสมองเสื่อมจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ ไม่ว่าจะเป็น
โรคพาร์กินสัน โรค Creutzfeldt-Jakob การขาดสารอาหารอย่างรุนแรง การได้รับสารพิษ สมองขาดออกซิเจน มีเนื้องอกในสมอง สมองติดเชื้อ สมองกระทบกระเทือน สมองฝ่อ และการติดสุราเรื้อรัง เป็นต้น
ภาวะสมองเสื่อมอาจพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ แม้จะเป็นภาวะที่ไม่ได้มาพร้อมกับความชราเสมอไป ทั้งนี้อาการทั่วไปของผู้ป่วยมักเริ่มจากการไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น พูดไม่เป็นประโยค ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือแต่งตัวได้เอง วางสิ่งของผิดที่ วางแผนล่วงหน้าไม่ได้ จำเวลาและสถานที่ไม่ได้ จดจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่ออาการมากขึ้นจะเกิดพฤติกรรมแปรปรวน หวาดระแวง รวมถึงเห็นภาพหลอน
นพ. ศิริชัย นิรมานสกุล ผู้เชี่ยวชาญโรคทางระบบประสาท กล่าวถึงข้อบ่งชี้ของภาวะสมองเสื่อมไว้ว่า “ผู้ป่วยจะต้องมีอาการบกพร่องทางสมองสองอย่างขึ้นไป เช่น สูญเสียความทรงจำร่วมกับสูญเสียความสามารถในการใช้ภาษา ดังนั้นผู้ป่วยที่สูญเสียความทรงจำเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมก็ได้”
แม้
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาภาวะสมองเสื่อมหรือซ่อมแซมสมองที่เสียหาย แต่การทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคทำให้แพทย์สามารถให้ยารักษาตามอาการและชะลออาการของโรคไม่ให้แย่ลงอย่างรวดเร็วและที่ละเลยไม่ได้คือ ผู้ป่วยต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยและปลอดภัย
โรคอัลไซเมอร์
26.6 ล้านคน4 คือจำนวน
ผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อมทั่วโลก จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2006 ขณะที่ในประเทศไทยตัวเลขผู้ป่วยรายงานโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเมื่อต้นปี 2009 อยู่ที่กว่า 1 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ว่ากันว่า เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับโอกาสที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ราวร้อยละ 10 - 155 ซึ่งโอกาสนี้จะเพิ่มมากขึ้นพร้อม ๆ กับวัยที่มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป และความจริงที่น่าเศร้าก็คือ อัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งยากจะป้องกัน ปัจจุบันยังไม่อาจรักษาให้หายได้ และเป็นอันตรายถึงชีวิต
“โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการที่เซลล์สมองถูกทำลายโดยไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางสมองในส่วนของสติปัญญา เช่น ความคิด ความจำ และการตัดสินใจ ในขณะที่สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยังใช้การได้ดี” นพ. ศิริชัย กล่าว
สำหรับ
อาการของอัลไซเมอร์นั้นอาจแบ่งตามระยะของโรคได้คร่าว ๆ เป็น 3 ระยะคือ ระยะแรกเริ่ม ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ไม่สามารถจำอะไรใหม่ ๆ ได้ และจะเริ่มจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ ในที่สุดก็จะจำไม่ได้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร
ส่วนระยะกลาง ผู้ป่วยจะเริ่มเห็นภาพหลอน หูแว่ว มีพฤติกรรมก้าวร้าว ถ้าถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ก็อาจเดินออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ได้เลย และในระยะสุดท้าย สมองจะถูกทำลายจนไม่สามารถควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งอาจกินเวลา 3 - 20 ปีนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
ปัจจุบันยังไม่มี
วิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์โดยตรง แต่เราสามารถรักษาอาการของโรคและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยการให้ยาบางชนิดที่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง และฟื้นฟูการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง อาจใช้ร่วมกับยานอนหลับ ยาลดอาการซึมเศร้า การทำจิตบำบัด ทำสมาธิ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคพาร์กินสัน
พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองที่พบได้บ่อยรองจากโรคอัลไซเมอร์ จากสถิติแล้ว ประชากรโลกทุก ๆ 1,000 คนจะมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันประมาณ 1 - 2 คน6 โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพศชายมากกว่าหญิง และส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและอเมริกาเหนือ
โรคพาร์กินสันเป็นผลมาจากการตายของเซลล์สมองซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารเคมีที่เรียกว่า
โดพามีน (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อระดับของโดพามีนลดลง การควบคุมกล้ามเนื้อก็ยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการสั่นบริเวณมือ แขน ขา ขากรรไกร เคลื่อนไหวช้า ขยับแขนขา แสดงท่าทางและเดินลำบาก
นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล สูญเสียความทรงจำ นอนไม่หลับ พูดช้า เคี้ยวหรือกลืนยาก ท้องผูก ควบคุมปัสสาวะไม่อยู่ มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
“แม้พาร์กินสันจะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดได้ แต่การที่เราทราบสาเหตุของโรค ทำให้มีทางเลือกในการรักษามากกว่าโรคทางสมองและระบบประสาทอื่น ๆ โดยเฉพาะการให้ยาเพิ่มปริมาณโดพามีน และเสริมโดพามีนร่วมกับยารักษาอาการร่วม เช่น ซึมเศร้า นอกจากนี้การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น” นพ. ศิริชัย อธิบาย
อีกทางเลือกหนึ่งใน
การรักษาโรคพาร์กินสัน ได้แก่
การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรือ Deep Brain Stimulation (DBS) ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่ที่ยังไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะเป็นผู้แนะนำแนวทางในการรักษาเฉพาะบุคคลต่อไป
โรคลมชัก
โรคทางสมองและระบบประสาทที่พบมากอีกโรคหนึ่งคือ
โรคลมชัก ซึ่งมีผู้ป่วยทั่วโลกมากถึง 50 ล้านคน7 ขณะที่ในประเทศไทยพบราวร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 6 - 7 แสนคน โดยพบได้ทั้งเพศหญิงและชายทุกช่วงอายุ
โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ พันธุกรรม สมองพิการแต่กำเนิด พยาธิในสมอง เส้นเลือดสมองผิดปกติ สมองได้รับความกระทบกระเทือน มีเนื้องอกสมอง และการได้รับสารพิษสะสมอย่างสารตะกั่ว ทั้งนี้ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคลมชักยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้
“เมื่อระบบไฟฟ้าระหว่างเซลล์สมองที่ผิดปกติไปรบกวนการทำงานของสมองส่วนอื่น ๆ ก็ส่งผลให้เกิดการชักขึ้นได้ แต่การชักเพียงครั้งเดียวยังไม่ถือว่าเป็นโรคลมชัก ต้องมากกว่าสองครั้งขึ้นไป และถ้าจำเป็นต้องวินิจฉัยเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ด้วยการสแกนสมองและตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง” นพ. ศิริชัย อธิบาย
ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นทุกส่วนของสมอง เราเรียกว่า การชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะหมดสติ ล้มลง ตาเหลือก ส่งเสียงดัง กัดฟัน และหยุดหายใจชั่วคราว แล้วจึงค่อยชักกระตุกซึ่งกินเวลาเพียงไม่กี่นาที เมื่อหยุดชักจะเกิดอาการเพลีย บาดเจ็บกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ
แต่หากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นเฉพาะเพียงส่วนหนึ่งของสมอง อาการชักจะเกิดที่ใบหน้า แขนหรือขา ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการชักกระตุกให้เห็น แต่จะดูเหมือนคนเหม่อลอยหรือหมดสติชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหายชักแล้วจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ ทั้งนี้การชักบางส่วนอาจนำไปสู่การชักทั้งตัวได้ หากความผิดปกตินั้นกระจายไปทั่วสมอง
การช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคลมชัก
ข้อแนะนำในกรณีที่พบผู้ป่วยชักคือ ไม่ควรสอดช้อนหรือของแข็งเข้าไปในปากของผู้ป่วย แต่ให้ใช้ผ้านุ่มแทนเพื่อเลี่ยงการบาดเจ็บ และควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่หายใจได้สะดวก โดยปกติอาการชักกินเวลา 3 - 5 นาที แต่ถ้าการชักทั้งตัวเกิดขึ้นนานกว่า 20 นาที หรือ ชักติดต่อกันโดยผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวเต็มที่ ถือว่าอันตรายและควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
ถึงแม้ว่าโรคลมชักจะไม่ทำให้สมองเสียหาย แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ได้ การรักษาทำได้หลายวิธี และได้้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมีโอกาสหายได้ด้วยการใช้ยา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดโดยพิจารณาถึงความถี่และความรุนแรงของการชัก รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อสมองและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ข้อมูล:
- www.ninds.nih.gov/disorders/brain_basics/know_your_brain.htm
- pni.go.th/pnigoth/?page_id=527
- www.alz.org/alzheimers_disease_what_is_alzheimers.asp#
- en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer's_disease#cite_note-Brookmeyer2007-2
- www.intelihealth.com/IH/ihtIH/WS/32193/35421.html และ https://www.connecttoresearch.org/publications/4
- www.connecttoresearch.org/publications/10
- en.wikipedia.org/wiki/Epilepsy#Seizure_types
- www.thaiepilepsy.org/
ฝึกสมองให้แข็งแรง คุณก็ทำได้
- หมั่นออกกำลังสมองด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น เรียนดนตรี เล่นเกมลับสมอง•ออกกำลังกายเพื่อคลายเครียด และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด
- รับประทานอาหารบำรุงสมอง โดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 วิตามินเอ ซี อี เซเลเนียม และผลิตภัณฑ์จากใบแปะก๊วย
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ข้องแวะยาเสพติด
- หมั่นตรวจความดันโลหิต เบาหวาน อัตราการเต้นของหัวใจ และคอเลสเตอรอลอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ปกป้องสมองด้วยการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อนั่งมอเตอร์ไซค์
- และไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนศีรษะ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565