bih.button.backtotop.text

เมื่อผู้สูงอายุปวดหลังต้องผ่าตัด


จะทำอย่างไรเมื่อหมอบอกต้องผ่าตัด คงเป็นคำถามในใจของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักมีโรคอื่นร่วมด้วย การจะตัดสินใจบอกหมอว่า “ตกลง ผมยอมผ่าตัด” คงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ หมอมีตัวอย่างของผู้ป่วยอายุ 70 ปีจะเล่าให้ฟังครับ
 

ความกังวลของผู้ป่วย


ผู้ป่วยสูงอายุของหมอรายนี้มาหาหมอด้วยความทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลังเรื้อรัง ร่วมกับปวดขามาเป็นปีๆ เคยได้รับการแนะนำจากคุณหมอท่านอื่นๆ ให้ทำการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยยังลังเลและไม่มั่นใจ เพราะมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ยังรักษากับหมอโรคหัวใจอยู่ ผู้ป่วยใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ 2 เส้นและต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet) เคยหาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลพบว่า แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ 10 เซนติเมตร ต้องใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลนาน กว่าจะลุกจากเตียงผู้ป่วยได้ต้องใช้เวลา 3-4 วัน และมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้
 
ข้อมูลที่ผู้ป่วยได้มาเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวและกังวล เพราะอายุก็มากแล้ว เกรงว่าการผ่าตัดจะยิ่งเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น 
 

ทางเลือกของการผ่าตัด


เมื่อหมอได้ทำการซักประวัติและตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียดแล้ว พบว่าผู้ป่วยเป็น “โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ” ควรเข้ารับการผ่าตัด เพื่อรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขา ไม่ให้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
 
แต่จากความกลัวและกังวลของผู้ป่วยในเรื่องที่เกี่ยวกับการผ่าตัด หมอจึงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ป่วยว่า ในปัจจุบันมี “วิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง” ซึ่งเป็นวิธีที่หมอจะเจาะรูเพื่อสอดกล้องเข้าไปยังบริเวณที่จะผ่าตัดเพียงแห่งเดียว โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก 8 มิลลิเมตร ผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีหลังผ่าตัด ใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลเพียงหนึ่งวันก็สามารถกลับบ้านได้ และในสัปดาห์ถัดไปก็กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณหนึ่งสัปดาห์
 
และสำหรับโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นร่วมด้วย เมื่อผู้ป่วยตกลงที่จะเข้ารับการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง หมอจะต้องทำการยืนยันกับหมอหัวใจว่าผู้ป่วยแข็งแรงพอที่จะผ่าตัดด้วยการส่องกล้องได้ และให้ผู้ป่วยหยุดยาต้านเกล็ดเลือดที่รับประทานอยู่ก่อนการผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ ผลการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี 
 

รู้จักโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

  • โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบเป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
  • สาเหตุของความผิดปกติเกิดจากการหนาตัวของกระดูกบริเวณกระดูกสันหลัง และไปกดเบียดเส้นประสาท
  • อาการที่มักพบคือ ปวดหลัง และปวดร้าวลงขา
  • การดำเนินของโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
  • โรคนี้แตกต่างจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งพบได้ในคนทุกวัย และอาการจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง ชนิดที่วันนี้เดินได้อยู่ดีๆ พรุ่งนี้กลับเดินไม่ได้แล้ว

 

หัวใจสำคัญของการผ่าตัดในผู้สูงอายุ


การผ่าตัดในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่มีโรคอื่นร่วมด้วยเป็นเรื่องที่หมอให้ความสำคัญ เพราะหัวใจของการรักษาผู้ป่วยสูงอายุคือ การทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วที่สุด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องนอนอยู่บนเตียงนานๆ จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ปอด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ได้มากขึ้น นอกจากนี้จะต้องทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุด ใช้ยาแก้ปวดน้อยที่สุด เพื่อลดผลข้างเคียงของยาแก้ปวด เช่น การกดการหายใจ ดังนั้นการผ่าตัดโดยการส่องกล้องจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยสูงอายุรายนี้ เพราะเป็นการผ่าตัดแบบเล็กที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วที่สุดและเจ็บปวดน้อยที่สุด
 
สิ่งที่หมอขอฝากไว้ก็คือ มีผู้ป่วยหลายรายที่ไม่ได้รับการรักษา เพราะเมื่อผู้สูงอายุมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ร่วมกับปวดร้าวลงขา เดินระยะทางไกลๆ ไม่ได้ มักจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา อายุมากแล้วก็เป็นได้ ร่วมกับความกังวลกลัวการผ่าตัด จึงปล่อยให้อาการเหล่านั้นรบกวนชีวิตประจำวัน หรือในผู้ป่วยหลายๆ รายที่มาหาหมอ มักจะบ่นเมื่อยขา หนักขา ชาขา ปวดขา เดินเมื่อไรก็เป็น โดยไม่มีอาการปวดหลัง ทำให้ไม่นึกถึงเรื่องหลัง หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการปวดหลังเรื้อรังหรือมีอาการผิดปกติ เช่น เมื่อยขา ปวดขา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
 
ข้อมูลผู้ป่วย: ผู้ป่วยชาวไทย เพศชาย อายุ 70 ปี ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้องเมื่อเดือนตุลาคม 2554
 
เรียบเรียงโดย นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

 
นายแพทย์ วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ที่ได้รับการฝึกอบรมจากนายแพทย์เซบัสเตียน รุทเทน แพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคพิเศษในการใช้กล้องเอนโดสโคป (endoscope) เพื่อผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูก โดยนายแพทย์วีระพันธ์เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้องเอนโดสโคป และเป็นผู้ฝึกอบรมแพทย์ทั่วโลกเกี่ยวกับการผ่าตัดแบบส่องกล้องร่วมกับนายแพทย์รุทเทน จัดที่ประเทศเยอรมนีปีละสองครั้ง และที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมเพียงแห่งเดียวในทวีปเอเชีย 



 


รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 30 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs