อาการปวดข้อมือปลายแขนท่อนใน หรือการปวดข้อมือฝั่งนิ้วก้อย เป็นการปวดข้อมือที่พบได้บ่อย จากการบาดเจ็บ การเล่นกีฬา การใช้งานซ้ำๆ มากเกินไป การปวดจะน้อยๆ กดเจ็บ ขยับปวด ปวดมากตอนบิดข้อมือคว่ำหงายมือ มากไปจนถึงปวดบวม แดงขยับไม่ได้ แล้วแต่ความรุนแรงของพยาธิสภาพ
สาเหตุ
- พบบ่อยที่สุดคืออาการบาดเจ็บของหมอนรองข้อมือซึ่งทำงานคล้ายหมอนรองข้อของบริเวณเข่าเมื่อได้รับการบาดเจ็บ เช่น การหกล้มเอามือยันพื้น ขณะที่มีการบิดข้อมือ หรือมีการใช้ข้อมือซ้ำๆนานๆ และมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังทำให้ฉีกขาดได้
- การกระแทกของกระดูกปลายแขนท่อนในที่มีต่อหมอนรองข้อมือ เกิดขึ้นจาก กระดูกปลายแขนท่อนในมีความยาวกว่ากระดูกปลายแขนฝั่งด้านนิ้วโป้ง( ulnar plus variance)
- ภาวะเอ็นข้อมืออักเสบ เมื่อมีการหักข้อมือมาทางด้านในบ่อยๆ จากการทำงาน ซ้ำๆ
- ข้อมือด้านในเคลื่อนหลุด หรือมีเอ็นฉีกขาดทำให้สูญเสียความมั่นคง ในการหมุนข้อมือคว่ำหงายมือ
การรักษาเบื้องต้น
- การใส่สนับข้อมือเพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวทำให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ประคบเย็น เพื่อลดอาการอักเสบ
- ทานยาต้านการอักเสบ เช่น Ibuprofen เมื่อรักษา 1-2 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์ แต่ถ้าบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ การพลิกบิดของข้อมืออย่างรุนแรง ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
เมื่อมาพบแพทย์ หลังการซักประวัติและการตรวจร่างกาย แพทย์ จะทำการเอกซเรย์และอาจทำ MRI ในผู้ป่วยบางราย เพื่อวินิจฉัยว่าสาเหตุ เป็นจากการอักเสบหรือมีการฉีกขาดของหมอนรองข้อมือ หรือมีข้อเคลื่อนหลุดสูญเสียความมั่นคงอย่างใดอย่างหนึ่ง
การรักษา
- ทานยา กายภาพบำบัดเมื่อมีการอักเสบ ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
- การฉีดยาสเตียรอยด์ จะทำในรายที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น และไม่มีการฉีกขาดของหมอนรองข้อหรือเอ็นข้อมือ
- การผ่าตัดส่องกล้อง เย็บ ซ่อมหมอนรองข้อมือ ที่ฉีกขาด การผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นยึดข้อมือขึ้นใหม่ ในรายข้อมือหลุดหลวม
เรียบเรียงโดย นพ. สุรชัย รัตนเสรีเกียรติ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การผ่าตัดมือ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: