bih.button.backtotop.text

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งสามารถติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ เชื้อ HPV ยังสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ อีกด้วย เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก มะเร็งต่อมทอนซิล มะเร็งโคนลิ้น มะเร็งคอหอยส่วนช่องปาก รวมถึงหูดหงอนไก่ เป็นต้น

สายพันธุ์ของเชื้อ HPV ปัจจุบันพบเชื้อ HPV มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
  • สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ
  • สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58 และ 59 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
 

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก [Human Papillomavirus (HPV) Vaccine]

คือ วัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ HPV อันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่นๆ ซึ่งมี 3 ชนิด ดังนี้
  • ชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix®) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก
  • ชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil®) ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่
  • ชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil-9®) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งเป็นสาเหตุร้อยละ 90 ของมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่


ใครควรได้รับวัคซีนนี้และควรได้รับเมื่อไหร่

  • แนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุ 9 ปีจนถึงอายุ 26 ปี ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
  • สำหรับผู้ที่อายุ 27-45 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีน HPV มาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฉีดวัคซีน
 
การฉีดวัคซีนหลังจากอายุ 15 ปี จะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดย
 

เข็มที่ 1

เข็มที่ 2 เข็มที่ 3
ฉีดในวันที่กำหนดเลือก ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน
 
ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
 
หากฉีดวัคซีนเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดเพียง 2 เข็ม โดยแต่ละเข็มห่างกัน 6-12 เดือน



อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้

โดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยเกิดขึ้นได้ เช่น อาการปวด บวม หรือแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือปวดกล้ามเนื้อซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง

 

ใครไม่ควรได้รับวัคซีนหรือควรชะลอการรับวัคซีนไว้ก่อน

  • ไม่ควรใช้ในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
  • หากมีไข้สูงฉับพลัน ควรรอให้หายก่อนได้รับวัคซีน
  • ไม่ควรฉีดวัคซีนในสตรีมีครรภ์ ในกรณีที่ตั้งครรภ์ในระหว่างการฉีดวัคซีน ควรรอจนคลอดบุตร จึงเริ่มฉีดวัคซีนต่อ (สามารถฉีดได้ในหญิงให้นมบุตร)
 

วิธีการปฏิบัติตัวหากไม่ได้รับวัคซีน HPV ตามนัด

ในกรณีที่ลืมฉีดวัคซีนตามตารางนัด สามารถฉีดวัคซีนต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด

 

ข้อควรทราบในการฉีดวัคซีน

  • หากรับประทานยาต่อเนื่องอยู่ กรุณาแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับวัคซีนทุกครั้ง เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
  • การได้รับวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและช่วงที่ร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจะทำให้ได้รับประสิทธิภาพจากวัคซีนสูงสุด ผู้ที่เคยได้รับเชื้อ HPV แล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง
  • วัคซีน HPV ไม่สามารถครอบคลุมไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ทุกสายพันธุ์ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้อย่างสมบูรณ์
  • ในระหว่างที่ฉีดวัคซีน ควรป้องกันการติดเชื้อ HPV และคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพไว้ก่อน จนกระทั่งฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน
  • ผู้ที่เคยได้รับวัคซีน HPV แล้วยังควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
 

การเก็บรักษา

  • ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
  • เก็บให้พ้นแสง
 

เอกสารอ้างอิง:  


รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 14 มกราคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs