bih.button.backtotop.text

ผู้สูงอายุ เดินช้า ก้าวสั้น ทรงตัวไม่ดี ยกเท้าลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สัญญาณเสี่ยงโรคอะไรกันแน่?

AW-InfoGraphic-NPH-1500.jpg

คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นผู้สูงอายุเดินช้าๆ ล้มบ่อยและมีอาการหลงลืม มักคิดว่าผู้สูงอายุเป็นโรคทางสมองที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น โรคอัลไซเมอร์ ในความเป็นจริงยังมีโรคอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนวัย 60 ปีขึ้นไป นั่นคือ โรคน้ำเกินในโพรงสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับคนเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสัน โรคน้ำเกินในโพรงสมองเป็นโรคที่รักษาได้หากพบแต่เนิ่นๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะแย่ลงและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเมื่อสังเกตพบอาการผิดปกติที่เข้าข่ายโรคน้ำเกินในโพรงสมอง ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป
 


โรคน้ำเกินในโพรงสมองคืออะไร

โดยปกติสมองจะมีโพรงอยู่ภายใน ในโพรงสมองมีน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid: CSF)  ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันสมองและไขสันหลังจากแรงกระทบกระแทกภายนอก สมองจะผลิตน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลังในปริมาณที่เพียงพอทุกวันและดูดซึมในปริมาณที่เท่าๆกับที่ผลิต แต่เมื่อสมองมีการดูดซึมน้ำที่ผิดปกติไป น้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลังจะคั่งและดันให้โพรงสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้มีน้ำเกินในโพรงสมอง
 


อาการของโรคน้ำเกินในโพรงสมอง

อาการของโรคจะมีความผิดปกติอยู่ 3 ส่วนหลักๆ อาการเริ่มแรกที่มักปรากฏให้เห็นคือปัญหาการเดินและการทรงตัว โดยอาการของโรค มีดังนี้
  • เดินก้าวแรกด้วยความยากลำบาก (gait apraxia)  รู้สึกเหมือนเท้าติดอยู่กับพื้น (magnetic gait) ยกเท้าลำบาก ก้าวสั้นๆ ร่วมกับการทรงตัวที่ผิดปกติ
  • สมองทำงานช้าลง ความจำเสื่อมลง จำเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปชั่วครู่ไม่ได้ ไม่มีสมาธิ เชื่องช้า ขาดความสนใจสิ่งรอบตัว ซึมหลับง่าย
  • ควบคุมการถ่ายปัสสาวะไม่ได้ อาการที่สำคัญ คือ ปัสสาวะราดออกมาโดยไม่บอก ไปห้องน้ำไม่ทัน และบางครั้งอาจควบคุมการถ่ายอุจจาระไม่ได้
  

สาเหตุของโรค

ถึงแม้ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค คือ
  • อายุมากกว่า 60 ปี
  • เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง
  • บาดเจ็บที่ศีรษะ
  • เนื้องอกในสมอง
  • เคยได้รับการผ่าตัดสมอง
  • ติดเชื้อในสมอง
 

การวินิจฉัยโรค

แพทย์ทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย หากผู้ป่วยเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง แพทย์มักพบว่าผู้ป่วยเดินไม่เป็นปกติและอาจมีอาการหลงลืม นอกจากนี้แพทย์ใช้การทดสอบอื่นๆ เช่น
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT ) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI ) เพื่อดูว่าโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่กว่าปกติหรือไม่
  • การเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลัง (Lumber Puncture Cerebrospinal Fluid Examination) เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยเดินได้ดีขึ้นชั่วคราวหลังการเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลังหรือไม่ เป็นการช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยและทดสอบว่าหากใช้วิธีการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำแล้วอาการจะดีขึ้น
  • การวิเคราะห์การเคลื่อนไหว (Gait analysis) โดยให้ผู้ป่วยเดินระยะทาง 10 เมตรหรือ 30 ฟุตเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาการเดินที่ผิดปกติ บ่งบอกว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
  • การทดสอบทางประสาทจิตวิทยา (Neuropsychological testing) เพื่อประเมินความผิดปกติในการทำงานของสมอง เช่น ความทรงจำ สมาธิและการแก้ไขปัญหา ที่เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยว่าเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมองชนิดความดันปกติในผู้สูงอายุ
 

วิธีการรักษา

โดยทั่วไปรักษาได้โดยการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ท่อระบายน้ำซึ่งมีลิ้นเปิดปิด (Shunt) เพื่อระบายของเหลวจากโพรงสมองหรือโพรงระดับสันหลังไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายที่สามารถดูดซึมน้ำได้ เช่น เยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) ที่สามารถดูดซึมน้ำในร่างกายได้อย่างปลอดภัย
 


ความเสี่ยงในการผ่าตัด

การผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำมีความเสี่ยงต่ำ บาดแผลเล็กและแทบไม่มีการสูญเสียเลือด โดยเฉพาะกรณีผ่าตัดฝังท่อที่ไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น เลือดออกในสมองและเกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน

 

หลังการผ่าตัด

ระยะเวลาในการพักฟื้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยบางรายใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องพักฟื้นนานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบว่ามีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเดิน แต่อาจต้องทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยเนื่องจากกล้ามเนื้อซึ่งไม่ได้ใช้เดินเป็นเวลานาน


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 14 ตุลาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs