ปัญหาสุขภาพตาและการมองเห็นในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเมื่อวัยเพิ่มขึ้น การทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะทุกส่วนย่อมเสื่อมถอยลงไป ทั้งนี้ ความผิดปกติของดวงตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่
ภาวะตาแห้ง คือภาวะที่น้ำหล่อเลี้ยงมีปริมาณไม่มากพอที่จะเคลือบให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตา ทำให้เกิดการระคายเคืองในตาและแสบตา เพราะเมื่ออายุมากขึ้นต่อมไขมันที่เปลือกตาจะอุดตันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป มีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้ตาแห้ง อาทิ โรคไทรอยด์ โรคข้ออักเสบ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดความดันที่ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะ การเพ่งจ้องเป็นเวลานาน อาการที่พบทั่วไปคือ รู้สึกระคายเคืองตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา สู้แสงไม่ได้ มองภาพไม่ชัดเป็นบางครั้ง มีน้ำตาไหลเนื่องจากร่างกายกระตุ้นให้สร้างน้ำตาขึ้นมาเพื่อลดอาการเคืองตา ทำให้มีน้ำตาไหลรื้นแต่ดวงตากลับไม่ชุ่มชื้น
ในการรักษาภาวะตาแห้ง แพทย์จะเริ่มจากการตรวจสภาพตาทั่วไป โดยการกระพริบตา เพื่อดูว่าเปลือกตาผิดปกติหรือไม่ ย้อมสีดูการกระจายของน้ำตา ดูพื้นผิวกระจกตา ตรวจต่อมน้ำตาไมโบเมียน (meibomian gland) ในหนังตาเพื่อดูความเสียหายของต่อมไขมันว่าเสียไปแล้วมากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงแนะนำวิธีการรักษาซึ่งได้แก่ การใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา การใช้ยาหยอดตาในกลุ่มสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการคัน เคืองตา การประคบอุ่นที่เปลือกตาเป็นประจำเช้า-เย็น และการทำความสะอาดเปลือกตา นอกจากนี้ การนวดและทำความสะอาดเปลือกตา หรือ eyelid spa ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถชะลอความรุนแรงของภาวะตาแห้งและทำให้อาการตาแห้งเรื้อรังดีขึ้นได้ โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการประคบเจลอุ่นที่เปลือกตาเพื่อให้ไขมันที่เปลือกตาอ่อนตัวลง จากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการประคบอุ่น 15 นาที แล้วหยอดยาชาและนวดเปลือกตา โดยแพทย์หรือพยาบาลจะใช้แท่งแก้วและไม้พันสำลีกดรีดไขมันที่อุดตันบริเวณเปลือกตา เมื่อทำการกดรีดไขมันเรียบร้อยแล้วจึงทำความสะอาดเปลือกตาด้วยโฟมอีกครั้งหนึ่ง การทำ eyelid spa ไม่เพียงช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและสิ่งอุดตันที่อยู่บริเวณเปลือกตา ทำให้เปลือกตาสะอาดขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยกำจัดตัวไรบริเวณโคนขนตาซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำตาอีกด้วย
ต้อกระจกเป็นโรคที่พบได้เป็นปกติในผู้สูงอายุเพราะเป็นภาวะที่ดวงตาเสื่อมสภาพไปตามวัย จากเลนส์แก้วตาที่เคยใสก็กลายเป็นขุ่นมัว และเมื่อขุ่นมากจนแสงผ่านเข้าไปยังประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ผู้สูงอายุจะมองเห็นไม่ชัดเจน มีอาการตามัว เห็นภาพซ้อน ตาสู้แสงไม่ได้ มองไฟแล้วเห็นเป็นแสงกระจาย ต้อกระจกสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งวิธีดั้งเดิมจะเป็นการใช้ใบมีดเปิดแผลที่บริเวณขอบกระจกตาดำของผู้ป่วยแล้วสลายเลนส์แก้วตาที่แข็งให้ละลายด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงก่อนจะดูดออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เพื่อปรับค่าสายตา แต่ปัจจุบันแพทย์ได้นำเทคโนโลยีการผ่าตัดต้อกระจกด้วย femtosecond laser มาใช้ในการเปิดแผลที่กระจกตาแทนใบมีด เพื่อให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น การใส่เลนส์เทียมทำได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม โอกาสเกิดสายตาเอียงลดลง ดวงตาบอบช้ำน้อยลง ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ยังช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อหลังการผ่าตัด และให้ผลการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
โรคต้อหินคือโรคที่มีการเสื่อมของขั้วประสาทตาอย่างช้าๆ โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่ทันรู้ตัวและนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ต้อหินเกิดจากการที่ความดันในลูกตาสูงขึ้นจนทำลายประสาทตา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงได้แก่ พันธุกรรมหรือการที่ มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน เชื้อชาติ อายุ การมีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ รวมถึงโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ อาการของโรคต้อหิน ได้แก่ ลานสายตาผิดปกติซึ่งหมายถึงการมองเห็นของผู้ป่วยจะจำกัดวงแคบลงจากด้านข้าง โดยจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ผู้ป่วยบางรายอาจเดินชนสิ่งของ หรือมีปัญหาขณะขับรถเนื่องจากมองไม่เห็นด้านข้าง โรคต้อหินสามารถรักษาได้ด้วย การใช้ยา การทำเลเซอร์ และการผ่าตัดตามแต่ชนิดและความรุนแรงของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาประสาทตาที่ยังเหลือให้คงอยู่ เพราะประสาทตาที่เสียไปแล้วไม่อาจฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองและการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจึงมีความสำคัญอย่างมาก
จอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อมมักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในระยะแรกของโรคจะไม่มีอาการใดๆ ให้สังเกตได้ และจะทราบเมื่อมีการตรวจขยายม่านตาเท่านั้น โรคจอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิด ได้แก่ แบบแห้ง (Dry AMD) ซึ่งพบมากที่สุด เกิดจากการเสื่อมตามอายุ อาการคือ จอตาจะค่อยๆ เสื่อมลง เริ่มมองเห็นภาพเบลอจนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือแบบเปียก (Wet AMD) ซึ่งพบได้น้อยกว่า เกิดจากการมีหลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณจุดรับภาพ หลอดเลือดเหล่านี้มีความเปราะบาง แตกง่าย เมื่อมีเลือดออกที่จอตาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวแบบเฉียบพลันและสูญเสียการมองเห็นในที่สุด การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมก็เช่นเดียวกับโรคต้อหินที่มีเป้าหมายอยู่ที่การชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา ในกรณีของโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง แพทย์อาจให้รับประทานวิตามินสูตรเฉพาะเพื่อชะลอความเสื่อม ส่วนโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก แพทย์อาจรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดพิเศษหรือฉีดยาเข้าไปในลูกตาเพื่อควบคุมไม่ให้หลอดเลือดที่เติบโตอย่างผิดปกติเข้าไปในบริเวณจุดรับภาพ
ตรวจสุขภาพตา เริ่มได้ตั้งแต่วัย 40
ปัญหาการมองเห็นนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งมักมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้น การตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดจึงควรเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจทุก 2-4 ปีสำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง และทุก 1-2 ปีสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากโรคทางตาที่พบบ่อยหรือการเปลี่ยนแปลงของสายตามักเริ่มที่ช่วงอายุนี้
ดูรายละเอียดแพ็กเกจตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดได้ ที่นี่
เรียบเรียงโดย พญ. พินิตา วะน้ำค้าง ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 10 พฤษภาคม 2565