bih.button.backtotop.text

นอนกรน ไม่ต้องทนอีกต่อไป

นอนกรน ไม่ต้องทนอีกต่อไป
อาการนอนกรนเป็นครั้งคราวพบได้ในคนทั่วไป ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการนอนกรนพบได้ร้อยละ 30 ในผู้ชายและพบได้ประมาณร้อยละ 15 ในผู้หญิง การนอนกรนเพียงธรรมดาเป็นครั้งคราวอาจไม่มีผลเสียต่อสุขภาพมากนัก แต่บางคนมีปัญหานอนกรนเป็นประจำหรือนอนกรนมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ รวมถึงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์


อาการนอนกรนคืออะไร
อาการนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีการตีบแคบ โดยปกติเมื่อคนเรานอนหลับสนิท กล้ามเนื้อต่างๆในช่องปากจะคลายตัวและหย่อนลงมาปิดกั้นทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงและกลายเป็นเสียงกรนขึ้น
อาการนอนกรนมีตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการมาก สังเกตได้จากอาการนอนกรนดังนี้
  • ในรายที่เป็นน้อย อาการนอนกรนพบได้ในท่านอนหงาย
  • ในรายที่เป็นมากขึ้น อาการนอนกรนเป็นในทุกท่านอน
  • ในรายที่เป็นมาก อาการนอนกรนเป็นในทุกท่านอนร่วมกับมีการหายใจติดขัดหรือหยุดหายใจขณะหลับ อากาศผ่านไปสู่ทางเดินหายใจช่วงล่างหรือลงสู่ปอดไม่สม่ำเสมอ ทำให้ระบบต่างๆในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ


นอนกรนอย่างไรที่เป็นอันตราย
อาการนอนกรนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งสังเกตได้จากอาการดังนี้
  • เสียงกรนดังมาก
  • หยุดหายใจเป็นช่วงๆระหว่างหลับ
  • อาการเหมือนหายใจไม่ออกหรือเหมือนสำลักน้ำลายขณะหลับ
  • อ่อนเพลีย ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน
  • ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี
  • ปวดศีรษะในตอนเช้า
  • ปากแห้ง คอแห้ง รู้สึกเจ็บคอเมื่อตื่นขึ้นมา
  • ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน
  • กัดฟันขณะนอนหลับ
  • เจ็บหน้าอกในตอนกลางคืน
  • ความดันโลหิตสูง


ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการนอนกรน
  • น้ำหนักเกิน พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูกหรือมีริดสีดวงจมูก
  • มีสันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
  • ต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • การรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
  • ผู้หญิงเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือนและผู้หญิงตั้งครรภ์
 
วินิจฉัยอาการนอนกรนได้อย่างไร
แพทย์จะซักประวัติจากผู้ป่วยตลอดจนผู้อยู่ใกล้ชิด ตรวจร่างกายอย่างละเอียด บางรายอาจมีการเจาะเลือดและตรวจทางรังสีและการตรวจการนอนหลับ (sleep test) ซึ่งทำให้วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะนอนกรนธรรมดาที่ไม่มีการหยุดหายใจ (primary snoring) หรือนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ร่วมด้วย


 
รักษาได้อย่างไร
การรักษาทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ การรักษาทำได้โดยวิธีการไม่ผ่าตัดและวิธีการผ่าตัดหรือใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธีและติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง

การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด
  • การลดน้ำหนัก ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  • ปรับท่านอน นอนศีรษะสูง นอนตะแคง
  • ไม่ดื่มสุราและสูบบุหรี่
  • ใช่อุปกรณ์ช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นหรือไม่อุดกั้นขณะหลับ เช่นใช้เครื่องอัดอากาศ ใส่ฟันยางขณะหลับ

การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางกายวิภาคทำให้เกิดอาการนอนกรนหรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูก ต่อมอดีนอยด์โต รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล
การนอนกรนส่งผลต่อตนเองและผู้ใกล้ชิด ดังนั้นเมื่อมีอาการนอนกรนเป็นประจำ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุเพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม คลินิกคุณภาพการนอนหลับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องและสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้และความชำนาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะการนอนผิดปกติ


 
ที่มาของข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.rcot.org
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/snoring
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/snoring/symptoms-causes/syc-20377694
https://www.sleepfoundation.org/snoring

 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 19 กรกฎาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs