เนื้องอกในมดลูก เมื่อได้ยินชื่อนี้ ก็อาจทำให้คุณผู้หญิงตกใจหรือกังวลกันอยู่ไม่น้อย จริงๆ แล้วโรคนี้อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะการตรวจพบได้ตั้งแต่แรก ย่อมรักษาได้เร็วกว่าและปลอดภัยกว่า
ก่อนจะมาทำความรู้จักว่าเนื้องอกในมดลูกคืออะไร ลองพิจารณาดูว่าคุณมีอาการต่อไปนี้บ้างหรือไม่ครับ
- ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ
- มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน
- ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก
- มีอาการท้องผูกผิดปกติ
- อยู่เฉยๆ ก็มีอาการปวดท้อง
หากคุณมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณผิดปกติที่บ่งว่าคุณอาจมีเนื้องอกในมดลูกได้
เนื้องอกในมดลูก เป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตในร่างกายเรามากกว่าปกติ มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่มักพบเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งมากกว่า โดยเกิดได้ที่ผิวด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูก หรืออยู่ในโพรงมดลูก
อาการของเนื้องอกในมดลูกขึ้นกับความรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย แต่เมื่อตรวจภายในกลับพบเนื้องอก ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่า
ในกรณีที่เนื้องอกโตขึ้น อาจไปกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ถ้าเบียดกระเพาะปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก ถ้ากดลำไส้ใหญ่จะทำให้เกิด
อาการท้องผูก และหากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ผู้ป่วยอาจคลำพบทางหน้าท้องได้ด้วยตัวเอง หรือในกรณีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ก็อาจมีอาการปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ มีเลือดออกมากผิดปกติระหว่างรอบเดือน หรือมีอาการปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
การพิจารณา
วิธีการรักษาเนื้องอกในมดลูกขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ลักษณะของเนื้องอก อัตราการเติบโตของเนื้องอก รวมถึงปัจจัยของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการในการมีบุตร เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการซักถามผู้ป่วยมาประกอบกัน เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่บางรายอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกทำได้ทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งจะมีแผลที่ปรากฏให้เห็นจากภายนอกและผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนาน หรือวิธีการที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กเพียง 5 มิลลิเมตร ทำให้ไม่มีรอยแผลเป็นหลังผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อ ใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับ
การผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกโดยไม่ได้ผ่าเอามดลูกออกก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นเนื้องอกได้อีก ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เพราะการตรวจพบเร็วในระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษามากยิ่งขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: