bih.button.backtotop.text

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “วัยทอง”

วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงนับเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สตรีวัยทองสามารถดูแลตนเองและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้


มาทำความรู้จักกับ “วัยทอง”

วัยทอง (menopause) ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก หมายถึง วัยที่มีการสิ้นสุดของการมีประจำเดือนอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่หยุดการทำงาน และเป็นการหยุดความสามารถในการเจริญพันธุ์ โดยปกติจะนับเมื่อขาดประจำเดือนมาเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี สำหรับหญิงไทย อายุเฉลี่ยที่จะเข้าสู่วัยทองคืออายุประมาณ 48 ปี 


อาการของสตรีวัยทอง

สตรีวัยทองแต่ละรายอาจเกิดอาการวัยทองมากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการจนกระทั่งมีอาการมากและกระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อาการวัยทองอาจแบ่งออกได้เป็นอาการทางร่างกายและอาการทางจิตใจ ดังนี้
  • อาการทางร่างกาย
    • ร้อนวูบวาบ เป็นอาการทางร่างกายที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีวัยทอง และเป็นอาการที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นอาการร้อนตามตัวและใบหน้าซึ่งอาจมีเหงื่อออกที่ใบหน้าร่วมด้วยได้ อาการนี้เกิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อวัดอุณหภูมิของผิวหนังในช่วงที่เกิดอาการจะพบว่าอุณหภูมิของผิวหนังร้อนขึ้นหลายองศา อาการร้อนวูบวาบจะเกิดบ่อยในช่วงปีแรกที่หมดประจำเดือนและอาจมีอาการต่อเนื่องยาวนานไปจนถึง 15 ปีหลังจากประจำเดือนหมด
    • เหงื่อออกในตอนกลางคืน
    • นอนไม่หลับ
    • กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย
    • การตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศลดลง เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์และไม่ถึงจุดสุดยอด เนื่องจากช่องคลอดมีผนังบางลง การผลิตน้ำหล่อลื่นจากต่อมต่างๆ ภายในระบบสืบพันธุ์ลดลง ทำให้อาจกระทบต่อสัมพันธภาพและเกิดปัญหาครอบครัวตามมา
    • มีอาการคัน แสบร้อน ระคายเคืองบริเวณช่องคลอด เนื่องจากเมื่อช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบาง จะมีผลต่อความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด ความเป็นกรดจะลดลง ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • ใจสั่น เป็นอาการที่เกิดได้เป็นระยะ และไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทำให้ผู้หญิงวัยทองอาจมีความวิตกกังวลเนื่องมาจากการไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
    • ปวดศีรษะไมเกรน
    • ปวดกระดูกและข้อ
  • อาการทางจิตใจ เป็นอาการที่พบได้บ่อยไม่แพ้อาการทางร่างกาย ส่วนใหญ่อาการทางร่างกายและจิตใจจะเกิดร่วมกันจนยากที่จะบอกว่าอาการใดเกิดขึ้นก่อน อาการทางจิตใจที่พบได้บ่อย คือ อาการซึมเศร้า หลงลืมง่าย สมาธิสั้น และหงุดหงิดง่าย พบว่าอาการซึมเศร้าเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดและมีผลต่อการอยู่ร่วมในสังคมมากที่สุด 


การดูแลสุขภาพของสตรีวัยทอง

โดยทั่วไปแล้วสตรีวัยทองที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยสามารถที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อนามัยเจริญพันธุ์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม
  • อาหาร เลือกอาหารที่มีประโยชน์ มีแคลเซียมสูง ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มอาหารที่มีเส้นใย ดื่มน้ำมากๆ
  • อารมณ์ ควบคุมอารมณ์และฝึกการมองโลกในแง่บวก มีอารมณ์ที่แจ่มใสอยู่เสมอ
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 30 นาที
  • อนามัยเจริญพันธุ์ ตรวจสุขภาพประจำปีและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นประจำ
  • อนามัยสิ่งแวดล้อม พักอาศัยและทำงานในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสุขอนามัยดี
ทั้งนี้หากได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตแล้ว แต่ยังคงมีอาการของวัยทองที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงหรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษา 


การรักษาอาการวัยทอง

การดูแลรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy หรือ HRT) จัดเป็นการรักษามาตรฐาน (gold standard) สำหรับผู้หญิงวัยทองที่มีอาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยทอง ไม่ว่าจะเป็นการลดอาการร้อนวูบวาบ อาการซึมเศร้า ความจำเสื่อม ปัญหาด้านระบบทางเดินปัสสาวะและระบบเจริญพันธุ์ เพื่อช่วยให้สตรีวัยทองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ดี การใช้ฮอร์โมนทดแทนต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ สตรีวัยทองที่จะเข้ารับการดูแลรักษาจึงจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจประเมินเบื้องต้นก่อน ได้แก่ 
 
หากสตรีวัยทองไม่มีข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมนทดแทน เช่น มีประวัติมารดาเป็นมะเร็งเต้านม กำลังเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ (ไม่ว่าจะเป็นการสงสัยว่าจะเป็นหรือกำลังได้รับการรักษา) มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนา หรือมีประจำเดือนออกผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จึงจะพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นรายๆ ไปตามความจำเป็นและเหมาะสม 
 
ทั้งนี้ สตรีวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจติดตามการรักษาอย่างน้อยปีละครั้ง และควรได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ความเสี่ยง และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
 

เรียบเรียงโดย ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “วัยทอง”
คะแนนโหวต 8.94 of 10, จากจำนวนคนโหวต 130 คน

Related Health Blogs