bih.button.backtotop.text

ทางเลือกในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยทั่วไปแล้วอวัยวะของคนเราจะหยุดเจริญเติบโตเมื่อร่างกายเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มที่ หรืออายุราว 25 ปี แต่ต่อมลูกหมากยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก จนกระทั่งผู้ชายเข้าสู่วัยที่ฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) ซึ่งหล่อเลี้ยงต่อมลูกหมากลดปริมาณลง เอนไซม์ชนิดหนึ่งในต่อมลูกหมากจะพยายามย่อยฮอร์โมนเพศชายให้ได้สาร DHT (Dihydrotestosterone) ในปริมาณมากขึ้น ทำให้ต่อมลูกหมากมีเซลล์เนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นและมีขนาดโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งต่อมลูกหมากที่โตมากผิดปกติอาจพัฒนาไปสู่สาเหตุของโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมากได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมะเร็งต่อมลูกหมากนั่นเอง

ซึ่งข้อบ่งชี้ของทางเลือกในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ ตำแหน่ง ขนาด ระยะของเซลล์มะเร็ง สภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการรักษา โดยปัจจุบัน ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากอยู่หลายวิธี เช่น
 

การผ่าตัด

- การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง ( laparoscopic radical prostatectomy) พัฒนามาจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ด้วยวิธีนี้ แพทย์จะสอดกล้องขนาดจิ๋วที่เรียกว่า laparoscope และเครื่องมือต่างๆ ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก 5 จุด บริเวณใต้สะดือแล้วทำการผ่าตัดผ่านจอมอนิเตอร์ ผลคือผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า และผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง

- การผ่าตัดโดยใช้แขนกลช่วยผ่าตัด (robotic–assisted da Vinci surgery หรือ da Vinci® prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยแพทย์ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้นเช่นเดียวกับการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะสามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะ และคงความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศไว้ได้

รังสีรักษา

มีทั้งการฝังแร่ต่อมลูกหมากและการฉายรังสี ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง หรือความเสี่ยงสูง

การให้ยาเคมีบำบัด

ปัจจุบันให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน แพทย์ก็มีวิธีบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาให้ลดน้อยลงได้

การรักษาด้วยฮอร์โมน

เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยแพทย์จะทำการลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก


เรียบเรียงโดย นพ.อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ แพทย์รังสีรักษา ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

           E-mail: [email protected]
แก้ไขล่าสุด: 09 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs