bih.button.backtotop.text

วัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้าเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียโดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก บางรายอาจท้องเสียรุนแรงและเกิดภาวะขาดน้ำได้ ไวรัสโรต้าสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อเด็กสัมผัสและเอามือเข้าปาก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกาย การระบาดของไวรัสโรต้ามักเกิดในครอบครัว โรงเรียนเด็กเล็ก หรือสถานเลี้ยงเด็ก

อาการแสดงเมื่อติดเชื้อไวรัสโรต้า

ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 1-3 วัน เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ (ผู้ป่วย 1 ใน 3 จะมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส) และอาเจียนร่วมด้วย ตามมาด้วยถ่ายเหลว โดยปกติแล้วอาการดีขึ้นภายใน 3-7 วัน หากอาการรุนแรงจะถ่ายอุจจาระและอาเจียนมาก อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้า

เด็กทุกคนที่มีอายุ 2 เดือนและมีภูมิคุ้มกันปกติควรได้รับวัคซีนนี้ วัคซีนไวรัสโรต้าจะป้องกันอาการท้องเสียและอาเจียนจากไวรัสโรต้าได้ดี แต่ไม่ได้ป้องกันอาการท้องเสียหรืออาเจียนที่เกิดจากเชื้อโรคอื่น


วิธีใช้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้า

  • วัคซีนไวรัสโรต้าเป็นวัคซีนที่ให้ทางปาก (กลืน) ไม่ต้องฉีด 
  • วัคซีนไวรัสโรต้าในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ Rotarix® และ Rotateq® โดยวัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพเทียบเคียงกัน 
  • ควรรับวัคซีนยี่ห้อเดียวกันให้ครบตามกำหนด

ชื่อการค้า

ครั้งที่ 1

ครั้งที่ 2

ครั้งที่ 3

Rotarix®    หยอด 2 ครั้ง

อายุ 2 เดือน

อายุ 4 เดือน

---

Rotateq®  หยอด 3 ครั้ง

อายุ 2 เดือน

อายุ 4 เดือน

อายุ 6 เดือน

***คำแนะนำการรับวัคซีน ครั้งที่ 1 อายุไม่ควรเกิน 15 สัปดาห์ และวัคซีนครั้งสุดท้ายเมื่ออายุไม่เกิน 8 เดือน***

 

ใครไม่ควรได้รับวัคซีนไวรัสโรต้า หรือควรชะลอไว้ก่อน

  • เด็กที่แพ้วัคซีนหรือส่วนผสมของวัคซีนไวรัสโรต้าอย่างรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตไม่ควรรับวัคซีนครั้งต่อไปอีก
  • เด็กที่เป็นโรคขาดภูมิต้านทานอย่างรุนแรง (severe combined immunodeficiency: SCID) หรือเคยเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (intussusceptions) ไม่ควรได้รับวัคซีนไวรัสโรต้า
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเด็กมีประวัติแพ้รุนแรง รวมถึงมีประวัติแพ้ยาง (latex)
  • ตรวจสอบกับแพทย์หากเด็กมีภูมิคุ้มกันลดลงอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์หรือโรคอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน การรักษาด้วยยา เช่น สเตียรอยด์ หรือมะเร็ง
  • เด็กที่มีอาการป่วยเล็กน้อยสามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ แต่เด็กที่มีอาการป่วยขั้นปานกลางหรือขั้นรุนแรง รวมถึงอาการท้องเสียหรืออาเจียนทั้งปานกลางและรุนแรง ควรจะเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าจะหายเป็นปกติ


 ผลไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า

อาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อย

อาการไม่สบายตัว ไข้ หรือท้องเสียชั่วคราวหลังจากได้รับวัคซีน

อาการไม่พึงประสงค์รุนแรง

พบได้น้อยมากๆ แต่หากเกิดหรือสังเกตพบให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที โดยแนะนำให้สังเกตความผิดปกติต่างๆ หลังรับวัคซีนใน 1 สัปดาห์ เช่น เด็กร้องไห้มากขึ้นอาจเนื่องจากปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อยๆ หรือมีเลือดปนในอุจจาระ เป็นต้น รวมทั้งสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ไข้สูงหรืออาการแสดงของการแพ้อย่างรุนแรง เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงวี้ด อ่อนเพลีย เสียงแหบ หัวใจเต้นเร็ว หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที


อันตรกิริยาระหว่างยา (ผลต่อยาอื่น)

วัคซีนไวรัสโรต้าสามารถให้ได้พร้อมๆ กับการให้วัคซีนสำหรับเด็กชนิดอื่นๆ
ยาบางตัวอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนไวรัสโรต้า เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน หากเด็กรับประทานยาในกลุ่มนี้หรือกลุ่มอื่นๆ อยู่ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนที่จะรับวัคซีนไวรัสโรต้า
 
***หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า กรุณาสอบถามแพทย์ เภสัชกร หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง***

เอกสารอ้างอิง:


รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 24 มีนาคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs